วิสัยทัศน์โอบามา ระบบโลกใหม่ที่ควบคุมทุกรัฐบาลทั่วโลก

นับเป็นครั้งที่ห้าแล้วที่ประธานาธิบดีบารัก โอบามาแสดงสุนทรพจน์ในที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติเมื่อวันที่ 24 กันยายนที่ผ่านมา เนื้อหาปีนี้ยังเน้นให้ความสำคัญต่อสถานการณ์ในภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ พูดถึงเรื่องสงครามกลางเมืองในซีเรีย การพัฒนาโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่านและความขัดแย้งระหว่างอาหรับกับอิสราเอล ทั้งหมดเป็นประเด็นร้อนที่มีเหตุการณ์เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่หากมองข้ามประเด็นเหล่านี้จุดที่น่าสนใจคือในส่วนสุดท้ายของสุนทรพจน์ ประธานาธิบดีโอบามาได้แสดงวิสัยทัศน์เรื่ององค์กรหรือระบบโลกที่เข้าควบคุมจัดการเหตุจลาจลวุ่นวาย สงครามกลางเมืองในประเทศต่างๆ ทั่วโลก มีผลต่อวิถีชีวิตของมนุษย์ทุกคน
            บทความนี้จะตีความวิสัยทัศน์ดังกล่าวพร้อมข้อวิพากษ์ ดังนี้
เหตุผลที่มา หลักคิดของโอบามา:
            ประการแรก เหตุจากความมั่นคงภายในอันเปราะบาง พลเรือนถูกกระทำทารุณกรรม
            ประธานาธิบดีโอบามาเริ่มต้นด้วยการคาดการณ์สถานการณ์โลกในอนาคตว่า บางประเทศบางสังคมอาจเกิดเหตุวุ่นวาย มีการใช้ความรุนแรง พลเรือนผู้บริสุทธิ์ไม่ว่าจะเป็นชายหญิงหรือเด็กต้องเสียชีวิต เกิดเสียงเรียกร้องให้ประชาคมโลกเข้าจัดการ แต่เนื่องจากระบบโลกปัจจุบันยังไม่มีสถาบันระหว่างประเทศใดสามารถยื่นมือเข้าปกป้องอย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้น ถึงเวลาแล้วที่ประชาคมโลกจะได้ร่วมกันคิดว่าจะจัดการปัญหาดังกล่าวอย่างไร
            ความคิดดังกล่าวสอดคล้องกับงานวิจัยหลายชิ้นที่ชี้ว่าความขัดแย้งภายในรัฐจะเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในหมู่รัฐที่เป็นรัฐล้มเหลว (Failed State) หลายกรณีมีต้นเหตุจากปัญหาเศรษฐกิจสังคมภายในที่รุมเร้าอย่างกรณีอาหรับสปริงในปัจจุบัน และที่จะเกิดจากชนกลุ่มน้อย เช่น พวกเคิร์ดในตุรกี ชีอะฮ์ในเลบานอน
            ที่ผ่านมายังติดเรื่องอธิปไตย ถกเถียงกันว่ากรณีใดที่นานาชาติควรแทรกแซง ดังเช่นกรณีซีเรียในปัจจุบัน ฝ่ายรัฐบาลระบุว่าการประท้วงไม่ได้มาจากความต้องการของประชาชนส่วนใหญ่ กลุ่มผู้ก่อการร้าย กองกำลังติดอาวุธต่างชาติเข้าแทรกแซงซ้ำเติมสถานการณ์ รัฐบาลกำลังปกป้องพลเรือนปกป้องอธิปไตยของตน ในขณะที่อเมริกากับพันธมิตรเห็นว่ารัฐบาลซีเรียสังหารประชาชนผู้บริสุทธิ์

            ประการที่สอง สหประชาชาติจำต้องปรับปรุงเปลี่ยนแปลง
            ด้วยเหตุผลดังกล่าวจึงเห็นว่าสหประชาชาติควรปรับปรุงเปลี่ยนแปลง เนื่องจากสหประชาชาติในปัจจุบันได้รับการออกแบบมาเพื่อป้องกันสงครามระหว่างรัฐ ขาดประสิทธิภาพในการป้องกันการสังหารหมู่ภายในประเทศ
            ดูเหมือนว่าประธานาธิบดีโอบามากำลังพูดถึงบทบาทของกองกำลังสหประชาชาติเรื่องการสร้างความสงบ (Peacemaking) ที่เจตนารมณ์เดิมของสหประชาชาติไม่มุ่งหวังให้องค์กรแสดงบทบาทแก้ไขปัญหาภายในของประเทศใดๆ ประเด็นนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่เสียทีเดียวหมีการถกเถียงกันมานานแล้ว เช่น การเข้าแทรกแซงสงครามกลางเมืองไม่จำต้องได้รับการยินยอมจากรัฐบาลของประเทศนั้น คำถามคือสหประชาชาติควรทำหน้าที่สร้างสันติภาพมากน้อยเพียงไร หรือควรมุ่งจำกัดกรอบให้เป็นการรักษาสันติภาพ (Peacekeeping) เข้าระงับการพิพาท
            ไม่ว่าเจตนารมณ์ของประธานาธิบดีโอบามาคืออะไร ท่านเห็นว่ากฎบัตรสหประชาชาติต้องปรับปรุง อาจรวมถึงการปรับเปลี่ยนโครงสร้าง หรือไม่ก็ต้องสถาปนาองค์กรระหว่างประเทศขึ้นมาใหม่อีกองค์กรหนึ่งเพื่อจัดการปัญหาดังกล่าว

            ประการที่สาม อเมริกาต้องช่วยเหลือปกป้องพลเรือนร่วมกับนานาชาติ
            ในยามที่ประเทศใดอยู่ในภาวะดังกล่าวประธานาธิบดีโอบามาเห็นว่าสหรัฐมีหน้าที่ต้องเข้าไปปกป้องพลเรือนจากพฤติกรรมทารุณชั่วร้าย เป็นการปกป้องสิทธิมนุษยชนพื้นฐาน แต่อเมริกาไม่สามารถและไม่ควรแบกรับหน้าที่ดังกล่าวเพียงลำพัง พยายามชี้ให้เห็นผลดีที่เกิดขึ้น เช่น อเมริกาสนับสนุนฝรั่งเศสเข้าแทรกแซงสถานการณ์ในประเทศมาลี สามารถผลักดันพวกอัลกออิดะห์ เพื่อให้กองกำลังแอฟริกันรับช่วงดูแลความเรียบร้อยนำความสงบสุขกลับมา ปัจจุบันอเมริกาเข้าร่วมในกองกำลังสหประชาชาติเพื่อปกป้องพลเรือนในลิเบีย เป็นเหตุให้หลายชีวิตอยู่รอดปลอดภัย ยับยั้งไม่ให้กลุ่มอดีตทรราชคืนสู่อำนาจ แม้หลายคนอาจวิพากษ์ว่าลิเบียในขณะนี้ประสบปัญหาหลายอย่าง อีกหลายพื้นที่ที่รัฐบาลไม่สามารถเข้าควบคุมดูแลความสงบเรียบร้อย กลุ่มติดอาวุธกับพวกสุดโต่งเข้าควบคุมเขตพื้นที่ต่างๆ ตามอำเภอใจ แต่หากไม่มีกองกำลังสหประชาชาติในวันนี้สถานการณ์ลิเบียจะย่ำแย่กว่าที่เป็นอยู่ จะเกิดสงครามกลางเมือง พวกอัลกออิดะห์สามารถฆ่าหรือทารุณประชาชนตามใจชอบ
            เป็นการตอกย้ำจุดยืนเดิมๆ ของอเมริกา เห็นว่ามีความชอบธรรมที่จะแทรกแซงกิจการภายในของประเทศอื่นเมื่อเกิดเหตุจลาจลวุ่นวาย อเมริกาไม่หวังผลเลิศในทุกกรณีแต่อย่างน้อยดีกว่าไม่ทำอะไรเลย พร้อมกับเรียกร้องนานาชาติเข้ามามีส่วนร่วมด้วย

            ประการที่สี่ เป้าหมายคือองค์กรหรือระบบระหว่างประเทศที่เอื้อต่อการเข้าแทรกแซง
            หลังจากไล่เลี่ยงเหตุผลที่มา จุดอ่อนที่ต้องปรับปรุง จนถึงจุดยืนของอเมริกา ท้ายที่สุดประธานาธิบดีโอบามาชี้ว่าสถานการณ์โลกไม่ได้ดำเนินในแนวทางที่ดีเยี่ยมสมบูรณ์แบบตามหลักอุดมคติ “โลกไม่ได้อยู่ในทางที่ดีที่สุด หลายประเทศไม่เห็นด้วยกับการเข้าจัดการทุกกรณี หลักอธิปไตยเป็นหัวใจของระเบียบระหว่างประเทศ แต่ไม่ควรให้ทรราชใช้อธิปไตยเป็นโล่ปกป้องตนเองในยามที่เขาสังหารผู้คน หรือเป็นข้ออ้างให้ประชาคมโลกปิดตาตัวเอง” แน่นอนว่าเราไม่สามารถขจัดความชั่วทุกอย่าง มีหลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยไม่ตั้งใจ
            อย่างไรก็ตาม “ข้าพเจ้าเชื่อว่าเราสามารถอ้าแขนต้อนรับอนาคตที่แตกต่าง” ด้วยการที่ทุกประเทศมีนโยบายดำเนินการบางอย่างเพื่อให้ “ประเทศทั้งหลายมีความรับผิดชอบต่อบทบาทของตนและสิทธิต่างๆ ของปัจเจกบุคคล” หากประเทศใดฝ่าฝืนจะโดนทำโทษ เช่น ถูกคว่ำบาตร ได้รับแรงกดดันทางการทูต ถูกแทรกแซงด้วยกำลังทหารจากนานาชาติถ้าจำเป็น รวมถึงการที่นานาประเทศมีนโยบายให้ความช่วยเหลือเพื่อพัฒนาประเทศอื่นๆ ให้สามารถรักษากฎเกณฑ์ต่างๆ
            สรุปแล้วประธานาธิบดีโอบามาวาดฝันถึงระบบโลกที่มีกลไกจัดการรัฐบาลของประเทศใดๆ ที่ขาดธรรมาภิบาล ไม่เคารพสิทธิของปัจเจกบุคคล
            ประธานาธิบดีโอบามากล่าวต่อว่า “นี่คือประชาคมโลกที่อเมริกาแสวงหา” โลกที่เหล่าผู้ปกครองไม่สามารถก่อสงครามอันป่าเถื่อน โลกที่พวกเราสามารถแก้ไขความขัดแย้งโดยสันติ ป้องกันไม่ให้เกิดสงครามที่บรรพบุรุษได้สู้รบกันมา โลกที่มนุษย์สามารถดำเนินชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรีและมีสิ่งจำเป็นพื้นฐานต่างๆ ไม่ว่าจะอยู่ที่ใดในโลก
            ผลลัพธ์ที่ได้ไม่จำกัดเฉพาะเรื่องการเมืองภายในหรือระหว่างประเทศเท่านั้น จะเกี่ยวข้องกับชีวิตในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม เช่น ปัญหาความอดอยากยากจน สุขภาพอนามัย ปัญหาโลกร้อน สิทธิในการประกอบอาชีพ “นี่คือการมองโลกอนาคตด้วยความหวังไม่ใช่ด้วยความกลัว และเชื่อว่าประชาคมโลกจะสามารถขับเคลื่อนให้โลกมีสันติภาพ ความมั่งคั่ง และความยุติธรรมยิ่งกว่าเดิมเพื่อชนรุ่นถัดไป”
            รวมความแล้วคือระบบโลกที่ดูแลควบคุมมนุษย์ทุกคนผ่านรัฐบาลของประเทศนั้นนั่นเอง

วิเคราะห์องค์รวม:
            หากคิดวิเคราะห์ในรายละเอียดจะมีประเด็นให้ถกเถียงถึงความถูกต้อง เช่น ถ้าคนกลุ่มเล็กๆ ในประเทศหรือต่างชาติต้องการล้มรัฐบาล จึงจัดตั้งกลุ่มชุมนุมประท้วงด้วยความรุนแรง ยั่วยุให้รัฐบาลปราบปราม ยั่วยุให้เกิดสถานการณ์รุนแรงเพื่อดึงนานาชาติเข้ามาแทรกแซง จะเป็นการช่วยคนกลุ่มดังกล่าวหรือต่างชาติล้มรัฐบาลที่เป็นตัวแทนของคนทั้งประเทศหรือไม่
            สหประชาชาติหรือระบบโลกใหม่จะวินิจฉัยเรื่องเหล่านี้อย่างไร เกณฑ์การตัดสินใจเป็นอย่างไร ใครหรือกลไกการสรุปตัดสินเป็นอย่างไร เหล่านี้ล้วนเป็นประเด็นให้ถกเถียงและไม่มั่นใจว่าระบบใหม่จะไม่ตกเป็นเครื่องมือของพวกที่ต้องการล้มล้างรัฐบาลที่ชอบธรรม
            ในทางเทคนิคจะมีปัญหาบางอย่าง เช่น ใครจะเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย เป็นเวลาหลายปีแล้วที่สหประชาชาติมีปัญหาเรื่องงบประมาณ อยู่ในภาวะต้องรัดเข็มขัด เพราะสมาชิกส่วนใหญ่ไม่ชำระเงินตามกำหนด อเมริกาคือหนึ่งในประเทศที่ค้างชำระมากที่สุด นักวิเคราะห์บางคนเห็นว่าเหตุที่ไม่ชำระเพราะไม่เห็นด้วยกับโครงการของสหประชาชาติ สมาชิกสภาคองเกรสมีความเห็นต่างว่าอเมริกาควรสนับสนุนด้านงบประมาณมากน้อยเพียงใด บางคนเห็นว่าบางประเทศชำระน้อยแต่มีอิทธิพลต่อสหประชาชาติมาก (แนวคิดผู้จ่ายมากควรมีอิทธิพลมาก ผู้จ่ายน้อยควรมีอิทธิพลน้อย) หากจะให้สหรัฐสนับสนุนค่าใช้จ่ายอย่างเต็มที่คงต้องเปลี่ยนหลักเกณฑ์การสนับสนุนงบประมาณ แต่ผลที่ตามมาคือหลายประเทศอาจไม่เห็นด้วยและไม่ยินดีชำระเพราะเห็นว่าไม่ยุติธรรมต่อตนเช่นกัน
            ยิ่งหากกองกำลังสหประชาชาติมีพันธะกิจต้องเข้าจัดการเหตุจลาจลสงครามกลางเมืองในทุกกรณี ต้องเพิ่มจำนวนกองกำลังอีกมาก บางกรณีต้องใช้อาวุธหนัก เป็นภาระด้านงบประมาณอย่างยิ่ง

            หากมองย้อนอดีตการเสนอความคิดปรับเปลี่ยนสหประชาชาติไม่ใช่เรื่องใหม่ อดีตประธานาธิบดีจอร์จ เอ็ช.ดับเบิ้ลยู. บุชเรียกร้องให้สหประชาชาติเพิ่มบทบาทด้านการทูตเชิงป้องกัน เพิ่มบทบาทกองกำลังรักษาสันติภาพและสร้างความสงบ ประธานาธิบดีบิลล์ คลินตันก็กล่าวในทำนองเดียวกัน เรียกร้องให้เพิ่มบทบาทของสหประชาชาติในการป้องกันเหตุมากกว่าเข้าไประงับข้อพิพาทที่เกิดขึ้นแล้ว
            ดังนั้น สุนทรพจน์ของประธานาธิบดีโอบามาคือการสานต่อ ปรับปรุงแนวคิดดังกล่าวให้ทันสมัยคมชัดยิ่งขึ้น คือระบบโลกใหม่ที่มีกลไกควบคุมเข้มข้นกว่าเดิม ความเป็นอธิปไตยลดน้อยลง รัฐทั้งหลายอยู่ภายใต้แนวทางเดียว ผลลัพธ์สุดท้ายคือมนุษย์ทุกคนทั่วโลกอยู่ภายใต้ระบบใหม่ มีวิถีชีวิตตามแบบแผนที่ระบบใหม่วางไว้เหมือนกันทั้งโลก นี่คือวิสัยทัศน์ของรัฐบาลโอบามาของรัฐบาลอเมริกัน ไม่ว่าจะมีข้อถกเถียงโต้แย้งมากน้อยเพียงไร
29 กันยายน 2013
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 17 ฉบับที่ 6173 วันอาทิตย์ที่ 29 กันยายน พ.ศ.2556
และได้รับการเผยแพร่ผ่าน US Watch” โดย กรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้ กระทรวงการต่างประเทศ,
http://uswatch.mfa.go.th/uswatch/th/article/detail.php?article=1752)
-------------------------
บรรณานุกรม:
1. Remarks by President Obama in Address to the United Nations General Assembly. The White House. http://www.whitehouse.gov/the-press-office/2013/09/24/remarks-president-obama-address-united-nations-general-assembly 24 September 2013.
2. National Intelligence Council.  Global Trends 2030: alternative world. http://www.dni.gov/files/documents/GlobalTrends_2030.pdf accessed 27 January 2013.
3. Interview Given by President al-Assad to Lebanese Al-Manar TV, SANA. http://sana.sy/eng/21/2013/05/31/485037.htm 31 May 2013.
4. Syria Foreign Ministry's letters to UN Security Council and the UN Secretary General. Armweeklynews. http://www.armweeklynews.am/awn/e12/en_1054.htm17 March 2012.
5. Ray, James Lee and Kaarbo, Juliet. 2008. Global Politics.USA: Houghton Miffl in Company.
6. United Nations Peacekeeping. 2013.Year in Review: 2012 United Nations Peace Operations. http://www.un.org/en/peacekeeping/publications/yir/yir2012.pdf accessed 16 September 2013
7. Jentleson, Bruce W. 2010. American Foreign Policy: The Dynamics of Choice in the 21st Century.  New York: W. W. Norton & Company.
--------------------