‘จารกรรม สอดแนม สายลับ’ พฤติกรรมอันดาษดื่น

การจารกรรม การสอดแนม สายลับ คำเหล่านี้ไม่ใช่คำใหม่ อาณาจักรอียิปต์โบราณเมื่อ 4000 ปีก่อนมีระบบสายลับอย่างเป็นทางการแล้ว เป็นกลยุทธ์หนึ่งที่ใช้ในการศึกปรากฎในตำราพิชัยสงคราม ขุนนางที่แย่งชิงอำนาจกันจะต้องส่งสายลับไปล้วงข้อมูลของอีกฝ่าย สายลับดังกล่าวอาจเป็นสาวงามผู้เลอโฉม
            ล่วงมาถึงยุคโลกาภิวัตน์ในปัจจุบัน เหตุการณ์ 9/11 ผู้ก่อการร้ายโจมตีตึกเวิร์ดเทรดเซ็นเตอร์ ตึกเพนตากอน ทำให้ประชาชน นักการเมืองออกมาส่งเสียงเรียกร้องให้รัฐบาลต้องปรับปรุงด้านการข่าว ข้อมูลจากหลายแหล่งเชื่อว่าเพราะระบบการข่าวบกพร่อง ขาดความเชื่อมโยงระหว่างหน่วยงานจึงกลายเป็นที่มาของโศกนาฏกรรม ดังนั้น การจารกรรม การสอดแนมจึงไม่ใช่เรื่องแปลก มีความจำเป็นต่อความมั่นคงของประเทศ ความรู้ในเรื่องเหล่านี้เป็นสิ่งที่สืบทอดต่อเนื่อง มีการเปลี่ยนแปลงพัฒนาไปตามเทคโนโลยี เหตุที่รัฐแอบฟังโทรศัพท์ก็เพราะผู้คนใช้โทรศัพท์เป็นเครื่องมือสื่อสาร เหตุผลจึงตรงไปตรงมาเช่นนี้
            การเกิดเหตุนายเอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน อดีตเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคนิคของซีไอเอสหรัฐเปิดโปงโครงการสอดแนมลับของรัฐบาลอเมริกัน เป็นตัวจุดประเด็นให้สังคมโลกตระหนักเรื่องนี้อีกครั้ง เห็นผลกระทบทั้งด้านบวกด้านลบจากเทคโนโลยี  จากสังคมออนไลน์
รัฐจำต้องทำการจารกรรมและต่อต้านการจารกรรมอย่างต่อเนื่อง
            ในหลัก สงครามและสันติภาพ มีประเด็นถกเถียงว่าเราสามารถบอกได้ว่าอยู่ระหว่างการทำศึกสงครามอย่างชัดเจนเมื่อเห็นชัดว่ามีการปะทะต่อสู้กันด้วยอาวุธ คำถามคือถ้าไม่มีการปะทะกันด้วยอาวุธแต่ฝ่ายตรงข้ามทำการสอดแนม จารกรรมอย่างต่อเนื่องจะถือว่าอยู่ในภาวะสงครามหรือไม่ ไม่ว่าข้อสรุปจะเป็นอย่างไร โลกทุกวันนี้มีการจารกรรม สอดแนมอย่างต่อเนื่องด้วยกันทุกฝ่าย มีการจารกรรมและต่อต้านการจารกรรม
            กรณีที่พูดกันมากในสหรัฐคือการต่อต้านการก่อการร้ายที่รัฐจะต้องทำการเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่องทั้งทางตรงทางลับเพื่อจะได้เข้าระงับเหตุร้ายได้ทันท่วงที ที่ผ่านมามีข่าวเป็นระยะๆ ว่าประเทศนั้นประเทศนี้สามารถสกัดการก่อการร้ายเนื่องจากตรวจจับได้ก่อน ประเทศอเมริกาที่เคยเกิดเหตุร้ายแรงอย่างกรณี 9/11 ย่อมเห็นว่าการสกัดกั้นเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง รัฐบาลไม่อาจปล่อยให้เกิดความผิดพลาดซ้ำสอง และไม่ควรเกิดเหตุการณ์เช่นนั้นจริงๆ เพราะที่ผ่านมาส่งผลกระทบมหาศาลต่อโลก
            กรณีของสหรัฐ เหตุการณ์ 9/11 ทำให้ประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิ้ลยู. บุชขณะดำรงตำแหน่งในสมัยนั้นออกนโยบายหลายประการเพื่อทำสงครามต่อต้านก่อการร้าย ทำการยกเครื่องหน่วยงานด้านการข่าว หน่วยสืบราชการลับทั้งหมด เพื่อดำเนินการสอดแนมอย่างมีเป้าหมาย มีวัตถุประสงค์ชัดเจนทั้งเพื่อประโยชน์ด้านความมั่นคง ด้านเศรษฐกิจ ตรวจสอบความมุ่งหมายของประเทศกับองค์กรต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนทั่วโลก หรือที่เรียกว่า Strategic Intelligence มีหน่วยปฏิบัติการภาคสนามเพื่อปฏิบัติการอย่างเฉพาะเจาะจง นอกจากนี้ยังมีฝ่ายที่เรียกว่า Operational intelligence (OPINTEL) มุ่งทำหน้าที่สนับสนุนโดยรวบรวมข้อมูลที่จำเป็นเพื่อการตัดสินใจของฝ่ายอื่นๆ เป็นฝ่ายที่ใช้ระบบเก็บข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์
            ที่สำคัญคือการตราพระราชบัญญัติ Patriot Act ซึ่งให้อำนาจตรวจสอบมากเป็นพิเศษ สามารถดักฟังโทรศัพท์ ลักลอบดูข้อมูลผ่านช่องทางต่างๆ ภายใต้การอนุญาตจากศาล เมื่อบารัก โอบามาเข้าดำรงตำแหน่งแทนในช่วงแรกท่านลงนามต่ออายุใช้พ.ร.บ.ดังกล่าวอีก 1 ปี และในเดือนพฤษภาคม 2011 ได้ต่ออายุให้ใช้เพิ่มอีก 4 ปี ด้วยเหตุผลเดิมคือเพื่อต่อต้านการก่อการร้าย
            จะเห็นว่าหน่วยงานรัฐบาลอเมริกันดำเนินการภายใต้กรอบกฎหมายกำหนด มีระเบียบแบบแผน บางเรื่องจะต้องขออำนาจจากศาลก่อนลงมือกระทำ เป็นลักษณะแบบอย่างอันดีของประเทศที่มีความเป็นประชาธิปไตยสูง แต่ถึงกระนั้นพ.ร.บ.ดังกล่าวเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างมากเรื่องการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล
            ล่าสุดสมาชิกสภานิติบัญญัติทั้งพรรคเดโมแครตกับรีพับลิกันจำนวนหนึ่งกำลังปรึกษาเพื่อแปรญัตติพ.ร.บ.ดังกล่าว เพื่อกำหนดให้รัฐบาลมีอำนาจสอดแนมเพียงเฉพาะบุคคลต้องสงสัยว่าเป็นผู้ก่อการร้ายเท่านั้น ไม่อนุญาตให้สอดแนมประชาชนทั่วไปคราวละจำนวนมากๆ อีกต่อไป ในขณะที่รัฐบาลอ้างว่าผลจากการใช้พ.ร.บ.ดังกล่าวช่วยลดโอกาสเกิดเหตุก่อการร้ายได้กว่าครึ่งหนึ่ง และเห็นว่ายังมีผู้ไม่ประสงค์ดีจ้องทำร้ายประเทศ หากจะปรับแก้ก็คือเรื่องทำอย่างไรจะป้องกันไม่เจ้าหน้าที่บางคนใช้ในทางมิชอบ และรัฐบาลต้องมั่นใจได้วางระบบควบคุมการใช้เครื่องมือเหล่านี้เป็นอย่างดีแล้ว
            ดังนั้น ประเด็นจึงไม่อยู่ที่ว่ารัฐสามารถทำการจารกรรมสอดแนมได้หรือไม่ แต่อยู่ที่การควบคุมการใช้อย่างมีประสิทธิภาพ อยู่ภายใต้กฎหมายต่างหาก

สื่อโซเชียลมีเดีย เครือข่ายสังคมออนไลน์
            เป็นที่รับรู้กันทั่วไปว่าสื่อโซเชียลมีเดีย เครือข่ายสังคมออนไลน์ เป็นสื่อเป็นช่องทางที่คนทั่วโลกจะใช้กันอย่างแพร่หลายมากขึ้นๆ เรื่อย แม้กระทั่งกลุ่มผู้ก่อการร้ายทั่วโลกยังใช้สื่อสารระหว่างกันด้วยช่องทางดังกล่าว
            ในแง่ของการสอดแนม เทคโนโลยีสื่อสารแบบใหม่ช่วยให้การสอดแนมพัฒนาตามอย่างรวดเร็ว ผู้ต้องการสอดแนมเข้าถึงข้อมูลได้ง่ายขึ้น ปลอดภัยขึ้น แฮกเกอร์จากจีนสามารถล้วงความลับบริษัทที่อยู่ในอเมริกาโดยไม่ต้องกังวงเรื่องความปลอดภัยของตนเอง ทั้งยังกระทำได้บ่อยเท่าที่ต้องการ ดังนั้น จึงไม่แปลกที่ทางการสหรัฐจะต้องให้ความสำคัญกับสื่อรูปแบบนี้
            โดยทั่วไปแล้วเทคโนโลยีที่ใช้สำรวจสืบเสาะข้อมูลจะถูกตรวจจับได้ด้วยระบบ IDS/IPS (ตรวจสอบการบุกรุกระบบจากผู้ไม่ประสงค์ดี รวมถึงพวกไวรัสต่างๆ) แต่ Will Gragido กับ John Pirc ชี้ว่า ‘Google ได้สร้างช่องทางหลายช่องให้สามารถเข้าไปเก็บและทำการสืบเสาะข้อมูลโดยไม่ส่งสัญญาณใดๆ ไปที่ระบบปลายทางนั่นหมายความว่าผู้ใช้คอมพิวเตอร์ทั่วโลกผ่านระบบ Google จะไม่ทราบว่าตนกำลังถูกตรวจสอบ ถูกเก็บข้อมูลหรือไม่
            การสืบเสาะข้อมูลลักษณะนี้จึงเป็นประโยชน์ในการสืบเสาะเบื้องต้น เพราะกระทำได้โดยง่าย ช่วยแยกแยะเป้าหมายว่าใครเป็นเป้าหมายสำคัญที่ต้องตรวจสอบเบื้องลึกต่อไป นำข้อมูลที่ได้ไปรวมกับข้อมูลที่ได้จากช่องทางอื่นๆ เพื่อต่อยอดทำให้เกิดความเข้าใจครบถ้วนชัดเจนมากขึ้น
            ยกตัวอย่างเช่นผู้ใช้คอมพิวเตอร์คนหนึ่งใช้ Google เพื่อค้นหาข้อมูลที่ตนต้องการ ผลคือทำให้ฝ่ายที่ติดตามตรวจสอบทราบว่านายคนนี้กำลังค้นหาอะไร สนใจเรื่องก่อการร้ายใช่ไหม กำลังหาข้อมูลการประกอบอาวุธหรือสนใจเรื่องการทำระเบิดแบบง่ายๆ ด้วยตนเอง ฯลฯ เมื่อรวมกับข้อมูลอื่นๆ เช่นรู้ชื่อนาย ก. ก็จะสามารถตรวจสอบว่าอยู่ที่ใด เคยมีประวัติกระทำความผิดหรือไม่
            ดังนั้น ผลจากการที่ผู้ใช้คอมพิวเตอร์สืบเสาะข้อมูลต่างๆ ผ่าน Google หรือแม้กระทั่งการเข้าเว็บไซต์ต่างๆ ระบบที่เรียกว่า Web Source Intelligence (WEBINT) จะเก็บรวบรวมข้อมูลและประมวลผลว่าใครกำลังสนใจเรื่องอะไร กำลังพยายามค้นหาข้อมูลเรื่องอะไรอยู่ ทั้งหมดจะสะท้อนภาพความเป็นตัวตนของคนๆ นั้น เช่น เป็นคนสนใจข่าวสารระหว่างประเทศ เป็นผู้ศึกษาเชิงลึกเพราะเข้าไปอ่านเอกสารต้นฉบับของกระทรวงต่างๆ สุนทรพจน์ของผู้นำประเทศ ทัศนคติของเขาผ่านข้อความที่เขาได้แสดงความเห็นในเว็บไซต์ เว็บเพจต่างๆ
            สำหรับผู้ที่ต้องการสืบเสาะข้อมูลของคนอื่น Facebook เป็นแหล่งข้อมูลที่สำคัญเพราะมีผู้ใช้ประจำ (active user) กว่า 500 ล้านคนทั่วโลก ที่สำคัญคือแต่ละคนเชื่อมต่อกับเพื่อนหรือคนรู้จักเฉลี่ย 130 คน ดังนั้น สังคมออนไลน์จึงเชื่อมโยงกันทั่วโลก สามารถตรวจสอบความสัมพันธ์กว่าใครเชื่อมโยงกับใคร พวกเขาคุยกันเรื่องอะไร เนื้อหาเป็นอย่างไร ถ้าผู้ใช้คิดว่าการเชื่อมต่อกับผู้อื่นในสังคมออนไลน์เป็นเรื่องจริงจัง ฝ่ายติดตามตรวจสอบจะเข้าถึงความสำคัญเหล่านั้น
            ลักษณะเช่นนี้เกิดขึ้นกับเครือข่ายอื่นๆ ที่รู้จักกันทั่วไป
            Will Gragido กับ John Pirc จึงชี้ว่าแท้ที่จริงแล้วเครือข่ายสังคมออนไลน์ไม่มีคำว่าความเป็นส่วนตัว (privacy) อย่างแท้จริง สิ่งที่เรียกว่าข้อมูลส่วนตัวมีเพื่อทำให้ถูกต้องตามกฎหมายเท่านั้น
            ในโลกอินเตอร์เน็ต บริษัทเอกชน ประชาชนทั่วไปต่างต้องมีระบบป้องกันระบบคอมพิวเตอร์ของตนเอง ทั้งจากไวรัสคอมพิวเตอร์ จากผู้ไม่ประสงค์ดีที่เข้ามาล้วงความลับ ซึ่งข้อมูลบางอย่างเป็นสิ่งมีค่ายิ่ง ที่ผ่านมาบริษัทเอกชนชั้นนำหลายแห่งทั่วโลกมีข่าวถูกขโมยข้อมูล เมื่อไม่นานนี้ประธานาธิบดีสหรัฐกับประธานาธิบดีจีนก็เพิ่งประชุมในเรื่องดังกล่าว กล่าวหาซึ่งกันและกันว่าให้การสนับสนุนการล้วงขโมยข้อมูล การโจมตีเว็บไซต์ มาวันนี้ประชาชนอเมริกันได้ตระหนักอีกครั้งว่ารัฐบาลของตนเองกำลังเป็นผู้สอดแนม ล้วงความลับของตน คนทั่วไปอาจคิดว่าเครื่องคอมพิวเตอร์ของตนได้ติดตั้งระบบป้องกันไว้แล้ว ความจริงคือระบบที่ซื้อหาใช้กันทั่วไปไม่อาจป้องกันการสอดแนมหรือการเข้าถึงข้อมูลจากผู้ชำนาญการหรือแฮกเกอร์ได้เลย

            กรณีนายเอ็ดเวิร์ด สโนว์เดนผู้นำข้อมูลมาเปิดเผยนั้น มีทั้งผลดีผลเสีย ผลดีต่อประชาชนทั่วไปคือทำให้สังคมอเมริกัน สังคมโลกรับรู้พฤติกรรมการเป็นสายลับของรัฐบาลประชาธิปไตย ในแง่ผลเสียต่อรัฐบาลอเมริกัน หากไม่พูดถึงเรื่องการวิพากษ์วิจารณ์จากประชาชน นายสโนว์เดนกำลังนำข้อมูลที่มีค่ามหาศาลให้กับประเทศอื่นๆ คาดว่ารัฐบาลอเมริกันจะต้องเสียงบประมาณ เสียเวลาอีกไม่น้อยเพื่อปรับแก้ระบบการสืบข้อมูลลับ ระบบเก็บข้อมูลต่างๆ
            แต่ที่สุดแล้วการจารกรรม การสอดแนม การใช้สายลับจะยังดำเนินต่อไป เพราะรัฐอ้างเหตุผลความมั่นคง เป็นเหตุผลเดียวกับที่ทำให้รัฐบาลอเมริกันในช่วงสงครามเย็นสนับสนุนรัฐบาลประเทศอื่นๆ ที่ต่อต้านคอมมิวนิสต์ทั้งๆ ที่รัฐบาลเหล่านี้ไม่ค่อยเป็นประชาธิปไตยหรือบางครั้งเป็นเผด็จการ กระทำทารุณต่อประชาชนตนเอง ความอยู่รอดปลอดภัยของสหรัฐอเมริกามีความสำคัญสูงสุดเสมอ และเนื่องจากทุกอย่างดำเนินการโดยกลุ่มเฉพาะอย่างลับๆ จึงยากที่ประชาชนจะเข้าถึงความจริง หากมีความผิดพลาดเกิดขึ้นที่ใดก็จะแก้ไขที่ตัวบุคคลตรงจุดนั้น แต่การสอดแนมลับจะดำเนินต่อไป เพราะนี่คือการสอดแนมลับ เป็นความลับที่ไม่อาจเปิดเผยให้ผู้ใดทราบแม้กระทั่งประชาชนของตนเอง
            ภรรยาคนหนึ่งพูดด้วยความภาคภูมิใจว่าสามีเป็นคนเสมอต้นเสมอปลาย เหตุที่มั่นใจเช่นนั้นเพราะเธอมี สาย คนหนึ่งในบริษัทของสามี คอยสอดส่องรายงานพฤติกรรมของสามีอย่างต่อเนื่อง ตลกร้ายของเรื่องคือ เมื่อสามีทราบความจึงจ้างวาน สายคนดังกล่าวให้รายงาน ทุกเรื่องเฉพาะแต่ เรื่องดีๆ ของตน และให้รายงานกลับว่าภรรยากำลังสงสัยพฤติกรรมของตนหรือไม่
            อุทาหรณ์เรื่องนี้เป็นข้อเตือนใจว่าเรื่องการจารกรรม การสอดแนม สายลับ ฯลฯ ไม่ใช่ของแปลกใหม่และกระทำกันทั่วไปอยู่แล้ว เราจึงต้องระวังตัวว่ากำลังสื่อสารอะไรออกไป หรือเพราะว่าเราตั้งใจสื่อสารออกไปเช่นนั้น
30 มิถุนายน 2013

ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 17 ฉบับที่ 6082 วันอาทิตย์ที่ 30 มิถุนายน พ.ศ.2556 และได้รับการเผยแพร่ผ่านและ “US Watch” โดย กรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้ กระทรวงการต่างประเทศ, http://uswatch.mfa.go.th/uswatch/th/article/detail.php?article=1673)
----------------
บรรณานุกรม:
1. Espionage, Encyclopedia of American Foreign Policy, volume 1 (USA: Sage Publications, 2006)
2. John Keegan, Intelligence in War: Knowledge of the Enemy from Napoleon to Al-Qaeda (UK: Hutchinson, 2003)
3. Mark Lowenthal, Intelligence: From Secrets to Policy, 4th edition (USA: CQ Press, 2009)
4. NSA surveillance: Is it time to amend the Patriot Act? The Week Magazine, 28 June 2013.
5. Bahram M. Rajaee, National Security under the Obama Administration (N.Y.:  PALGRAVE MACMILLAN, 2012)
6. Will Gragido and John Pirc, Cybercrime and Espionage: An Analysis of Subversive Multi-Vector Threats (USA: Elsevier, 2011)
--------------