อุดมการณ์ทางการเมือง (5) อุดมการณ์ชาตินิยม

คือ อุดมการณ์ที่ให้ความสำคัญกับชาติหรือความเป็นชาติอย่างมาก ผลประโยชน์ของชาติมีความสำคัญยิ่งกว่าผลประโยชน์ของส่วนบุคคล เรียกร้องให้ประชาชนเสียสละผลประโยชน์ตนเองเพื่อชาติ

นิยาม ชาติ (nation) เน้นในความหมาย มีความสัมพันธ์ทางสายเลือด เชื้อสาย มีภาษา มีวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ร่วม ทั้งหมดก่อให้มีความรู้สึกเป็นพวกเดียวกัน มักจะแสดงออกให้เป็นชัดผ่านเอกลักษณ์ต่างๆทั้งรูปร่างหน้าตา ภาษา พฤติกรรม
ชาตินิยม (Nationalism) คือ อุดมการณ์ที่ให้ความสำคัญกับชาติหรือความเป็นชาติอย่างมาก ผลประโยชน์ของชาติมีความสำคัญยิ่งกว่าผลประโยชน์ของส่วนบุคคล เรียกร้องให้ประชาชนเสียสละผลประโยชน์ตนเองเพื่อชาติ
            นักรัฐศาสตร์ได้จำแนกนิยามชาติอย่างน้อยใน 3 มุมมอง
1.        ชาติในมุมมองทางวัฒนธรรม
2.        ชาติในมุมมองทางการเมือง
3.        ชาติในมุมมองทางจิตวิทยา

1. ชาติในมุมมองทางวัฒนธรรม (cultural nation)
ชาติในความหมายทางวัฒนธรรม หมายถึง การให้นิยามโดยมุ่งสนใจที่เอกลักษณ์หรืออัตตลักษณ์ของกลุ่มบุคคลหนึ่งๆ โดยดูที่เชื้อสายเผ่าพันธุ์หรือชาติพันธุ์ (ethnic) หรือที่วัฒนธรรมของพวกเขา อันได้แก่ ภาษา ขนบธรรมเนียมประเพณี วิถีชีวิต ฯลฯ ซึ่งเหล่านี้ทำให้เห็นความแตกต่างระหว่างกลุ่มคน
            ด้วยความแตกต่างทางวัฒนธรรมนี่เองทำให้เราสามารถแบ่งคนเป็นกลุ่ม คือ เป็นชาติ

2. ชาติในมุมมองทางการเมือง (political nation)
ชาติในความหมายทางการเมืองอาจสืบย้อนหลังไปถึงข้อเขียนของ รุสโซ (Jean Jacques Rousseau, 1712-1778) ที่อธิบายคำว่า ชาติ หมายถึง กลุ่มบุคคลที่ผูกพันอยู่ด้วยกันโดยถือเกณฑ์การเป็นพลเมือง (citizenship) ของหน่วยหรือสังคมการเมืองเดียวกัน
ชาติในความหมายนี้จึงไม่สนใจว่า ภาษา ขนบธรรมเนียมประเพณี เชื้อสายเผ่าพันธุ์เป็นอย่างไร ตราบใดที่บุคคบเป็นพลเมืองภายใต้การปกครองของสังคมการเมืองเดียวกัน (หรือหน่วยการเมืองเดียวกัน) บุคคลนั้นย่อมมีส่วนในอำนาจอธิปไตยของประชาชน (popular sovereignty) เท่ากับพลเมืองคนอื่นๆ และอำนาจอธิปไตยซึ่งเป็นผลรวมของพลเมือง ทั้งหมดนี้สะท้อนออกเป็นแนวคิดเรื่อง เจตน์จำนงทั่วไป (General will)

            ชาติในความหมายทางการเมืองนี้ มีบทบาทสูงสุดในยุโรปตะวันตกในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 และแสดงออกผ่านรูปแบบต่างๆ เช่น การสร้างเพลงชาติ (national anthems) การสร้างธงชาติ (national flags) เพื่อเป็นสัญญลักษณ์ประชาชาติของตน และส่งผ่านหรือกระตุ้นให้เกิดความรักความผูกพันในชาติของตน
            ชาติในมุมมองทางการเมืองจึงเป็นสิ่งที่มนุษย์ สร้าง หรือ ประดิษฐ์ ขึ้น มากกว่าเป็นสิ่งที่กาลเวลาได้ช่วยให้เกิดวิวัฒนาการขึ้นเองทีละเล็กทีละน้อย
ฮอบส์บอว์น (Hobsbown) กล่าวว่า ชาติทางการเมืองเป็นสิ่งที่ถูกสร้างขึ้น (invented traditions) หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ สำนึกเรื่องความรักชาติเป็นตัวสร้างให้เกิดชาติในความหมายทางการเมือง (Nationalism creates nations, not the other way round)
            แอนเดอร์สัน (Anderson) เรียกชาติทางการเมืองนี้ว่าเป็นชุมชนที่ถูกจินตนาการขึ้น (imagined communities) ซึ่งเกิดขึ้นด้วยปัจจัยสำคัญๆ เช่น ระบบการศึกษาสมัยใหม่ซึ่งเป็นการศึกษาแบบมวลชน ระบบสื่อสารมวลชน และการกล่อมเกลาทางการเมือง

3. ชาติในมุมมองทางจิตวิทยา (psychological nation)
ชาติในความหมายทางจิตวิทยารู้จักกันในอีกชื่อหนึ่งว่าความรักในปิตุภูมิ (Patriotism) หรือดินแดนที่เป็นผู้ให้กำเนิด
            ความรักในปิติภูมิ (หรือมาตุภูมิ-mother land) หรือ รักบ้านเกิดเมืองนอน เป็นความผูกพันทางจิตใจที่บุคคลมีต่อสถานที่ที่ตนเองเกิดและเจริญโตเติบขึ้น เป็นความผูกพันทางจิตใจ (psychological attachment)
ความผูกพันทางจิตใจนี้ไม่ได้ถูกสร้างขึ้น แต่เป็นความคุ้นเคย ความเคยชินกับสถานที่บริเวณบ้านเกิดหรือที่ที่ตนเองอาศัยมาตั้งแต่เด็ก ความรู้สึกผูกพันที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ
นักรัฐศาสตร์แบ่งชาตินิยมอย่างน้อย 4 รูปแบบ คือ
1.           ชาตินิยมแนวเสรี (Liberal Nationalism)
2.           ชาตินิยมแนวอนุรักษ์ (Conservative Nationalism)
3.           ชาตินิยมขยายอำนาจ (Expansionist Nationalism)
4.           ชาตินิยมต่อต้านการล่าอาณานิคม (Anticolonial Nationalism)

1. ชาตินิยมแนวเสรี (Liberal Nationalism)
ในศตวรรษที่ 19 เมื่อแนวคิดเสรีนิยมได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นมาก และกำลังระบาดในกลุ่มประเทศยุโรป ความคิดเรื่องอำนาจอธิปไตยของประชาชน และชาตินิยมแนวเสรีก็เกิดขึ้นด้วย เมื่อประชาชนที่อยู่ภายใต้ระบบฟิวดัลเห็นว่าตนเองสามารถกำหนดชีวิตของตนเอง ไม่จำเป็นต้องอยู่ภายใต้ผู้ใดอีกต่อไป ดังนั้น ประชาชนคือเจ้าของชาติ ไม่ใช่กษัตริย์หรือขุนนางอีกต่อไป
หลักสำคัญของชาตินิยมแนวเสรีคือการยึดถือว่ามนุษยชาติถูกแบ่งออกเป็นเผ่าพันธุ์ หรือชนชาติต่างๆ ตามธรรมชาติ ดังจะเห็นความแตกต่างอย่างชัดเจน เช่น คนแอฟริกา คนไทย คนจีน หรือมีความแตกต่างในแต่ละเผ่าพันธุ์ เช่น ชาวเขาเผ่าต่างๆ พวกเขาสามารถแบ่งแยกความแตกต่างกันได้ ดังนั้น ชาติจึงเป็นชุมชนที่แท้จริงและเป็นอินทรียภาพ ไม่ใช่เป็นการสร้างขึ้นของผู้สร้างชาติ หรือของชนชั้นปกครองผู้รวบรวมชาติ

2. ชาตินิยมแนวอนุรักษ์ (Conservative Nationalism)
ตรงข้ามกับชาตินิยมแนวเสรี ชาตินิยมแนวอนุรักษ์เกิดขึ้นเพราะมีกลุ่มคนที่ไม่สนับสนุนการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ชนิดถอนรากถอนโคนจากระบบการปกครอง ระบบธรรมเนียมปฏิบัติที่สืบทอดกันมายาวนาน เช่น จากการปกครองโดยระบอบกษัตริย์มาเป็นการปกครองโดยคณะผู้ปกครองสามัญชน หรือการที่ประชาชนมีสิทธิ เสรีภาพมากกว่าในอดีตมาก
ดังนั้น ชาตินิยมแนวอนุรักษ์จึงเป็นอุดมการณ์ชาตินิยมที่ต้องการรักษาสิ่งเก่าที่ดีเอาไว้ เป็นการผสมอุดมการณ์ชาตินิยมร่วมกับอนุรักษ์นิยม

3. ชาตินิยมขยายอำนาจ (Expansionist Nationalism)
เป็นชาตินิยมที่เน้นการขยายอำนาจด้วยการยึดดินแดน ยึดประชากรประเทศอื่นมาเป็นของตน เพื่อสร้างเกียรติภูมิและขยายความยิ่งใหญ่ของประเทศ หลายประเทศในยุโรปได้อาศัยเทคโนโลยีที่ดีกว่า เช่น การเดินเรือสมุทร อาวุธที่ทันสมัยกว่าไปยึดครองดินแดนทวีปต่างๆ ทั่วโลกมาเป็นอาณานิคมของตนเอง เกิดเป็นการสร้างจักรวรรดิหรือเรียกกว่าจักรวรรดินิยม (Imperialism) เช่น ฝรั่งเศส สเปน ฮอลันดา ประเทศอังกฤษครั้งหนึ่งเคยได้ฉายาว่าประเทศที่ดวงอาทิตย์ไม่เคยหลับไหลด้วยเหตุว่ามีอาณานิคมทั่วทุกทวีปนั่นเอง ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เคยตกเป็นเมืองขึ้นหรืออาณานิคมประเทศอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นพม่า เวียดนาม ลาว เขมร มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ (เคยเป็นของสเปนและกลายเป็นของอเมริกาในเวลาต่อมา) ยกเว้นประเทศไทย

4. ชาตินิยมต่อต้านการล่าอาณานิคม (Anticolonial Nationalism)
ชาตินิยมต่อต้านการล่าอาณานิคมเกิดขึ้นมากหลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง เนื่องจากการที่เจ้าอาณานิคม เช่น อังกฤษ ฝรั่งเศสอ่อนแอลงมากหลังสงคราม ผนวกกับความคิดชาตินิยมตะวันตกได้แผ่ขยายในหมู่ประเทศที่เป็นอาณานิคม ทำให้เกิดอาณานิคมต่างๆ ต้องการประกาศเอกราช (อธิปไตย) แก่ตนเอง ยกตัวอย่าง เช่น อินเดียได้เอกราชจากอังกฤษ ชาวเวียดนามขับไล่ฝรั่งเศส

            สรุปเรื่องรูปแบบชาตินิยม: ชาตินิยมเป็นสิ่งที่ถูกสร้างขึ้นมาและถูกใช้เป็นเครื่องมือในโอกาสต่างๆ แม้ว่ารูปแบบชาตินิยมที่อ้างหลักการที่เป็นสากล เช่น ชาตินิยมแนวเสรีที่ยกเรื่องการรวมตัวของเผ่าพันธุ์เดียวกันขึ้นมาเป็นชาติ แต่ไม่อาจปฏิเสธว่าเป็นการยกขึ้นมาเพื่อต่อต้านหรือปลดแอกตนเองออกจากระบอบการปกครองดั้งเดิมที่ครอบอยู่ หรือ ชาตินิยมแนวขยายอำนาจก็เป็นเหตุให้ผู้นำประเทศสามารถสร้างความชอบธรรมในการรุกรานประเทศอื่นๆ ชาตินิยมจึงเป็นเครื่องมือเพื่อให้คนในชาติรวมตัวกันเพื่อเป้าหมายบางอย่าง
เอกสารประกอบคำบรรยาย รหัสวิชา2551120 อุดมการณ์ทางการเมือง
ฉบับเดือนมีนาคม 2553
ชาญชัย คุ้มปัญญา
----------------------