อุดมการณ์ทางการเมือง (1) นิยาม อุดมการณ์ทางการเมือง

หมายถึง ความคิด ความเชื่อ ที่มีแบบแผนเกี่ยวกับหลักการและคุณค่าทางการเมือง เป็นความคิดความเชื่อที่มีแนวทางแน่นอน มีเหตุผล มีจุดหมายปลายทาง และวัตถุประสงค์ที่มนุษย์พยายามจะดำเนินการให้สัมฤทธิผล

“นิยาม อุดมการณ์ทางการเมือง”
1.        ความหมายของอุดมการณ์ทางการเมือง (Political Ideology) มีผู้นิยามหลากหลาย
1.1.   หมายถึง ความคิด ความเชื่อ ที่มีแบบแผนเกี่ยวกับหลักการและคุณค่าทางการเมือง เป็นความคิดความเชื่อที่มีแนวทางแน่นอน มีเหตุผล มีจุดหมายปลายทาง และวัตถุประสงค์ที่มนุษย์พยายามจะดำเนินการให้สัมฤทธิผล
1.2.   หมายถึง ความคิดความเชื่อที่ทำให้เกิดกลไกควบคุม เพื่อบรรลุเป้าหมายแห่งความคิดความเชื่อนั้น
1.2.1.        เช่นอุดมการณ์มาร์กซิสม์ ก่อให้เกิดพรรคคอมมิวนิสต์เพื่อสร้างและควบคุมให้การปกครองบรรลุเป้าหมายของอุดมการณ์
1.2.2.        อุดมการณ์ประชาธิปไตย คือ การเพิ่มพูน ปกป้องเสรีภาพส่วนบุคคล ทำให้เกิดไกกลต่างๆ เช่น พรรคการเมือง กลุ่มผลประโยชน์ การลงมติ เพื่อรักษาความเป็นประชาธิปไตย
1.3.   อุดมการณ์มิใช่เป็นเพียงปรัชญาการเมือง อุดมการณ์ทางการเมืองจะเรียกร้องให้มีการกระทำจากผู้ศรัทธาในอุดมการณ์ เกิดความรู้สึกว่าถูกต้องที่จะกระทำตามนั้น อุดมการณ์ทางการเมืองมักจะเชื่อมโยงกลุ่มคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเป็นพิเศษ
1.4.   สมเกียรติ วันทะนะ อุดมการณ์ทางการเมือง คือ ระบบคิดที่อธิบายถึงการดำรงอยู่ของสังคมการเมืองปัจจุบัน สังคมการเมืองที่พึงปรารถนาและวิธีการในการปฏิบัติเพื่อให้ได้มาซึ่งสังคมการเมืองอันพึงปรารถนานั้น
1.5.   ชัยอนันต์ สมุทรวณิช เป็นระบบความเชื่อหรือระบบความคิดที่อธิบายถึงบทบาทของคนในสังคม อธิบายความสัมพันธ์ระหว่างคนในสังคม คนกับรัฐ และอธิบายสภาพความเป็นไปทางสังคมว่าเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้นและน่าพึงปรารถนาหรือไม่ ในความเห็นความเชื่อของอุดมการณ์ทางการเมืองนั้นว่ามีอย่างไร ควรมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงหรือไม่ ถ้าเปลี่ยนแปลงจะมีวิธีการอย่างไร
ดังนั้น อุดมการณ์จึงมีข้อเรียกร้องที่จะให้คนยอมรับ เชื่อมั่น ศรัทธาเพื่อให้เกิดความร่วมมือกันในกลุ่มชนที่จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงดังที่มุ่งไว้
ข้อควรสังเกตประการหนึ่งคือ ในภาษาอังกฤษคำที่ใช้เรียกอุดมการณ์มักจะมีคำว่า “ism” ต่อท้าย ซึ่งในภาษาไทยจะเป็นคำว่า นิยม เช่น  Liberalism หรือ เสรีนิยม

2.        นักปราชญ์ทางรัฐศาสตร์ เดอ ท็อคเคอวิลล์ (De Tocqueville) กล่าวให้ความสำคัญกับอุดมการณ์ว่า หากปราศจากอุดมการณ์แล้ว สังคมก็มิอาจจะตั้งอยู่หรือเจริญเติบโตต่อไปได้ เหตุว่าเมื่อมนุษย์ไม่มีความเชื่อมั่นร่วมกันในความคิดอันใดอันหนึ่ง มนุษย์ก็ไม่อาจดำเนินการใดๆ ร่วมกันได้ เมื่อขาดพฤติกรรมร่วมดังกล่าว มนุษย์ก็ยังคงมีอยู่แต่จะปราศจากสิ่งที่เรียกว่า สังคม

(ชมคลิปบทความนี้)
“ความสำคัญ บทบาทของ อุดมการณ์ทางการเมือง”
·      อุดมการณ์ทางการเมือง เป็นแรงผลักดันให้มนุษย์ทำสิ่งต่างๆ ตามอุดมการณ์
o   อุดมการณ์ทางการเมืองจึงเป็นเป้าหมายปลายทาง และรากฐานของหลักเกณฑ์ต่างๆ ทำให้สังคมพัฒนาไปข้างหน้า
·      ทำให้มนุษย์ยอมเชื่อฟัง และเกิดความรับผิดชอบต่ออุดมการณ์
·      ทำให้เกิดการรวมกลุ่มคนที่ยึดมั่นในอุดมการณ์เดียวกัน
·      เป็นการกล่อมเกลาทางสังคมว่ามนุษย์พึงมีหรือพึงใช้ชีวิตอย่างไร
o  เช่น การใช้ชีวิตอย่างมีเสรีภาพเพียงใด การมีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินหรือไม่

คำถามเพื่อการอภิปราย คนไทยมีอุดมการณ์ทางการเมืองหรือไม่ ถ้ามีเป็นอุดมการณ์แบบใด อะไรเป็นข้อบ่งชี้

“องค์ประกอบของ อุดมการณ์ทางการเมือง”
            อุดมการณ์มีหลากหลายแต่ทั้งหมดมีองค์ประกอบร่วมกัน
 ดังนี้
1)       ค่านิยม (Value)
ทุกอุดมการณ์ต่างล้วนเห็นว่า ค่านิยมบางอย่างที่อุดมการณ์ตนเองยึดถือดีกว่าค่านิยมอื่นๆ และยังใช้เป็นเกณฑ์ในการตัดสินความคิด ความเชื่อและการกระทำของอุดมการณ์อื่นๆ ด้วย อีกทั้งยังเป็นข้ออ้างเพื่อที่จะใช้ในการชักจูงความคิดเห็น หรือเพื่อที่จะต่อต้านหรือยับยั้งความคิดอื่น มีสาระและน้ำเสียง หรือไปในแนวที่เป็นจริยธรรม ศีลธรรม หรือบรรทัดฐานให้คนยึดถือปฏิบัติตาม
 เช่น  อุดมการณ์เสรีนิยม (Liberalism) มีค่านิยมว่าการตระหนักถึงศักยภาพของมนุษย์แต่ละคนเป็นหนึ่งในเป้าหมายสูงสุดของสังคม ซึ่งจะปรากฏเป็นจริงได้ก็แต่เฉพาะในระบอบการเมืองที่พลเมืองแต่ละคนต่างล้วนมีอำนาจในการกำหนดนโยบายของรัฐไม่แตกต่างกัน ตรงกันข้ามกับอุดมการณ์ฟาสซิสม์ (Fascism) ซึ่งมองมนุษย์ไม่เท่าเทียมกัน บางคนฉลาดกว่าบางคน จึงให้ความสำคัญกับคนที่เก่งกว่าฉลาดกว่า และให้ความสำคัญกับผู้นำหรือผู้ปกครองเหนือสิทธิ เสรีภาพของปัจเจกชน และความยิ่งใหญ่ของเชื้อชาติตนเหนือเชื้อชาติอื่น

2)       วิสัยทัศน์ต่อสังคมการเมืองในอุดมคติ (Vision of the Ideal Polity)
แต่ละอุดมการณ์ต่างมีวิสัยทัศน์ว่า สังคมการเมืองควรจะมีลักษณะอย่างไร หากมีโอกาสในการบริหารจัดการสังคมการเมืองภายใต้อุดมการณ์ของตน เช่น มาร์กซิสม์ (Marxism) เห็นว่าหากสังคมไม่มีการถือครองกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินของปัจเจกชน (Private Property) ชนชั้นในสังคมก็จะสูญสลายหายไป เมื่อไม่มีชนชั้นใดที่มีอำนาจและการกดขี่ขูดรีดเหนือชนชั้นอื่น ท้ายที่สุดก็จะทำให้รัฐสูญสลายตามไปด้วย

3)       มโนทัศน์ว่าด้วยธรรมชาติของมนุษย์ (Conception of Human Nature)
อุดมการณ์ทั้งหลายต่างล้วนมีความคิด ความเชื่อถึงธรรมชาติของมนุษย์ว่าเป็นอย่างไร เช่น เสรีนิยมคลาสสิค (Classical Liberalism) เชื่อว่าโดยธรรมชาติมนุษย์ทุกคนต้องการเลือกตัวแทนและนโยบายที่ดีที่สุดเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี ดังนั้น เมื่อระบบการเมืองเปิดโอกาสให้มีการเปิดเผยข้อมูล ข้อเท็จจริงของนโยบายและความคิดทางการเมืองของตัวนักการเมืองผ่านการหาเสียงเลือกตั้ง ประชาชนย่อมต้องเลือกแนวทางที่ดีที่สุดเพื่อประโยชน์แก่ตนเองที่จะได้รับ

4)       ยุทธศาสตร์ (Strategy of Action)
แต่ละอุดมการณ์มียุทธศาสตร์ในการเปลี่ยนแปลงสังคมการเมืองที่เป็นอยู่ให้เป็นสังคมเมืองที่ตนเองใฝ่ฝัน เช่น มาร์กซิสม์ พยายามสร้างจิตสำนึกทางชนชั้น (Class Consciousness) ให้เกิดขึ้นในหมู่กรรมกรผู้ใช้แรงงานเพื่อล้มล้างระบบทุนนิยมแล้วแทนที่ด้วยระบบสังคมนิยม หรือเสรีนิยมที่ไม่ต้องการให้รัฐเข้ามาแทรกแซงกิจกรรมทางเศรษฐกิจของประชาชน ตลอดจนการดำเนินชีวิตในด้านต่างๆ เช่น การกิน การดื่ม การแต่งกาย หรือแม้กระทั่งพฤติกรรมทางเพศด้วยเชื่อว่าจะเป็นหนทางที่ดีที่สุดต่อชีวิตของมนุษย์

5)       ยุทธวิธีทางการเมือง (Political Tactics)
ในขณะที่ยุทธศาสตร์หมายถึง แผนแม่บทสู่ความสำเร็จตามความใฝ่ฝัน ยุทธวิธีคือ แผนการย่อยในทางปฏิบัติที่มาจากแผนแม่บทเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ที่ต้องการนั่นเอง อุดมการณ์ทางการเมืองแต่ละประเภทต่างมียุทธวิธีทางการเมืองของตนเอง แม้กระทั่งอุดมการณ์เดียวกัน แต่เมื่อแตกแขนงแยกย่อยออกไปต่างมียุทธวิธีที่แตกต่างกัน เช่น สังคมนิยม ซึ่งแตกแขนงออกไปเป็นสังคมนิยมมาร์กซิสต์ (Marxist Socialism) และสังคมนิยมประชาธิปไตย (Social Democratic) เป็นต้น ขณะที่สังคมนิยมมาร์กซิสต์เห็นว่าระบบทุนนิยมจะล่มสลายได้ต้องใช้กำลังโค่นล้มโดยชนชั้นกรรมมาชีพเท่านั้น แต่สังคมนิยมประชาธิปไตยปฏิเสธการใช้ความรุนแรง อีกทั้งยังศรัทธาในสถาบันทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยว่าจะทำให้อุดมการณ์สังคมนิยมบรรลุผลได้

“วิพากษ์ อุดมการณ์ทางการเมือง”
            อุดมการณ์ให้ความหมายกับชีวิตหรือมอมเมาชีวิต
            ในด้านบวก มองว่า อุดมการณ์ผลักดันให้ชีวิต สังคม ไปข้างหน้าตามอุดมการณ์ เป็นคุณค่าของชีวิตและของสังคมนั้น สร้างสรรค์สังคม ประเทศชาติ ให้เจริญรุ่งเรืองตามอุดมการณ์ คนจำนวนไม่น้อยที่ยอมตายเพื่ออุดมการณ์ทางการเมืองที่ตนยึดมั่น
            ยกตัวอย่าง เช่น
อุดมการณ์ประชาธิปไตย ทำให้คนเห็นว่าตัวเองมีคุณค่าและสังคมให้โอกาสแก่ทุกคนในการสร้างสรรค์ชีวิตของตนเอง
อุดมการณ์ทางการเมืองที่สอนให้คนยอมเป็นระเบิดพลีชีพเพื่อเป้าหมายของอุดมการณ์ของกลุ่ม (ตัวอย่างการยอมตายเพื่ออุดมการณ์ทางการเมือง) บางคนอาจไม่เห็นด้วย แต่คนที่อยู่ในอุดมการณ์นั้นเห็นว่าคนนี้เป็นแบบอย่างที่น่ายกย่อง เขาทำในสิ่งที่ถูกต้องสมควรแล้ว

            ในด้านลบ มาร์กซ์กับเองเกลส์ (Karl Marx, Friedrich Engels) ชี้ว่า “อุดมการณ์เป็นมายา (illusion) หรือ สำนึกจอมปลอม (false consciousness) เป็นเครื่องมือที่ชนชั้นปกครองใช้มอมเมาชนชั้นถูกปกครองไม่ให้เห็นธาตุแท้ของการที่ตนถูกกดขี่ขูดรีดโดยชนชั้นที่ได้เปรียบ”
            คาร์ล ปอปเปอร์ (Karl Popper) เห็นว่า อุดมการณ์ คือ ระบบของความคิดที่ปิดตัวเองจากโลกภายนอก (a closed system of thought)เขายกตัวอย่างว่าระบบเผด็จการเบ็ดเสร็จในช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 1 และ 2 ไม่ว่าจะเป็นระบบคอมมิวนิสต์โซเวียตหรือนาซีเยอรมัน ล้วนใช้อุดมการณ์เป็นเครื่องมือควบคุมสังคมให้ประชนชนคล้อยตาม และผู้มีอำนาจที่อยู่เบื้องหลังจะผูกขาดการตีความว่าอะไรจริง อะไรเท็จ อะไรควรไม่ควร โดยไม่ยอมรับให้มีความคิดความเชื่อที่แตกต่างไปจากแนวการตีความของตน

            ด้วยการมองอุดมการณ์เชิงวิพากษ์ จอห์น ทอมป์สัน (John Thompson) จึงแจกแจงอุดมการณ์ตามแนวคิด 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ
1)       แนวคิดอิสระว่าด้วยอุดมการณ์ (Neutral Conception of Ideology) อุดมการณ์ประเภทนี้เป็นหนึ่งในแง่มุมของชีวิตทางสังคม อาจถูกนำเสนอในรูปแบบทางการเมืองต่างๆ โดยไม่ได้คำนึงว่าจะนำไปสู่การปฏิวัติ ปฏิรูป การฟื้นฟู ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหรือรักษาไว้ซึ่งระเบียบสังคมหรือไม่
2)       แนวคิดว่าด้วยอุดมการณ์เชิงวิพากษ์ (Critical Conception of Ideology) แนวคิดนี้ตรงข้ามกับแนวคิดแรก อธิบายว่าอุดมการณ์เป็นแนวคิดหรือความเชื่อที่ผิดพลาดหรือเป็นจิตสำนึกจอมปลอม ทอมป์สันจัดให้มาร์กซ์อยู่ในแนวคิดนี้

“อุดมการณ์อรัฐนิยม”
            อรัฐนิยมแปลมาจากคำภาษาอังกฤษ Anarchism มาจากศัพท์ภาษากรีกสองคำ คือ an ที่แปลว่า ไม่ กับคำว่า archos ผู้นำ เมื่อนำสองคำมารวมเข้าด้วยกันจึงมีความหมายว่า การปกครองในรูปแบบที่ไม่มีผู้นำ
ประวัติศาสตร์บันทึกว่า แนวคิดอรัฐนิยมมีมาตั้งแต่สมัยกรีกโบราณ นักคิดกลุ่มสโตอิก (Stoicism) ที่นิยมการใช้ชีวิตแบบสงบเรียบง่าย กับนักคิดกลุ่มอิพิคิวเรียน (Epicureanism) ที่นิยมการดำเนินชีวิตที่สนุกสนานรื่นเริง ต่างมีแนวทางอย่างเดียวกัน คือ ไม่ประสงค์ให้อำนาจรัฐเข้าไปแทรกแซงหรือยุ่งเกี่ยวกับวิถีชีวิตของพวกตน เพราะอำนาจรัฐย่อมจะเข้าไปขัดขวางเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินชีวิตแบบเสรีของพวกเขา
ต่อมาในศตวรรษที่ 17-18 อุดมการณ์อรัฐนิยมได้รับอิทธิพลจากแนวคิดเรื่องสิทธิตามธรรมชาติ (natural rights) ที่เห็นว่าทุกคนมีสิทธิที่ติดตัวมาแต่กำเนิดอย่างเท่าเทียมกันและห้ามใครละล่วงละเมิดแม้แต่อำนาจรัฐ เพราะฉะนั้นรัฐจึงควรเป็นสถาบันที่มีอำนาจอย่างจำกัด และให้ปัจเจกชนมีสิทธิเสรีภาพมากที่สุด

           หลักการของอรัฐนิยมคือการพยายามลดอำนาจรัฐให้เหลือน้อยที่สุด โดยมีเป้าหมายสูงสุดคือการที่รัฐไม่มีอำนาจใดๆ เพราะเชื่อว่าธรรมชาติมนุษย์เป็นคนดี ไม่เห็นแก่ตัว สามารถอยู่รวมกันได้อย่างสงบและรู้จักเสียสละเพื่อส่วนรวม ในขณะที่อำนาจรัฐ (State authority) เป็นสิ่งชั่วร้าย ขัดขวางเสรีภาพของมนุษย์ ดังนั้นจึงไม่จำต้องมีรัฐ

อุดมการณ์อรัฐนิยมแตกต่างไปจากสภาพอนาธิปไตย (Anarchy) 
           อนาธิปไตย (Anarchy) คือสภาพสังคมโกลาหลวุ่นวาย มักเกิดจากการขาดสถาบันทางการเมืองที่สามารถควบคุมให้สังคมอยู่ในความสงบเรียบร้อย ในขณะที่อรัฐนิยมหมายถึงการปกครองที่ประชาชนมีอิสระและเสรีภาพในการดำเนินชีวิตอย่างเต็มที่ ปราศจากอำนาจรัฐหรืออำนาจของสถาบันทางการเมืองที่เข้ามาจัดการ ควบคุม
ฉบับเดือนพฤศจิกายน 2563
ชาญชัย คุ้มปัญญา
------------------