รูปแบบการปกครอง (2) รูปแบบการปกครองที่ใช้เกณฑ์สิทธิเสรีภาพของประชาชน

รูปแบบการปกครองกลุ่มนี้ แบ่งออกได้เป็น 3 รูปแบบ ตามความเข้มข้นของการมีสิทธิเสรีภาพของประชาชน คือ
1. เผด็จการเบ็ดเสร็จนิยม (Totalitarianism)
รูปแบบการปกครองนี้ผู้ปกครองมีอำนาจเบ็ดเสร็จ เป็นระบอบการปกครองที่มุ่งปกครองเบ็ดเสร็จทุกด้านทั้งสังคม รวมถึงชีวิตส่วนตัวของประชาชนทุกคน เช่น การแต่งงานต้องผ่านความเห็นชอบของรัฐ รัฐเป็นผู้อุปถัมภ์เลี้ยงดูบุตรหลาน รัฐจัดการระบบเศรษฐกิจทุกอย่าง ประชาชนไม่สามารถเป็นเจ้าของที่ดินหรือกิจการได้ ประชาชนไม่สามารถแสดงออกหรือจัดกิจกรรมทางการเมือง การแสดงออกทางวัฒนธรรม ดนตรี ศิลปะ การกีฬาก็เพื่อรับใช้รัฐ ดังนั้น ประชาชนจึงอยู่ในฐานะที่ไม่มีสิทธิ ไม่มีเสรีภาพ ในรูปแบบนี้ประชาชนมีชีวิตอยู่เพื่ออุดมการณ์หรือผู้ปกครองสูงสุดของประเทศ
ประเทศที่เคยปกครองหรือปกครองตามรูปแบบนี้คือ ฮิตเลอร์ มุสโสลินี อดีตสหภาพโซเวียตในยุคสตาลิน จีนในยุคเหมาเจ๋อตง พอลพตแห่งกัมพูชา (1976-1979) และคิมจองอิล (Kim Jong Il) แห่งเกาหลีเหนือในปัจจุบัน

· ลักษณะของเผด็จการเบ็ดเสร็จนิยม
o  การจะเป็นเผด็จการเบ็ดเสร็จนิยมหรือไม่ ขึ้นกับตัวผู้นำประเทศเป็นอย่างมาก
ลักษณะนี้จะเห็นได้จากประเทศที่ปกครองด้วยอุดมการณ์การเมืองหนึ่งๆ อย่างยาวนานผ่านหลายผู้นำ เช่น อดีตสหภาพโซเวียตที่เป็นคอมมิวนิสต์ โดยเฉพาะสตาลินที่ถูกกล่าวอ้างอย่างชัดเจนว่าเป็นเผด็จการเบ็ดเสร็จนิยม หรือเหมาเจ๋อตงของจีน ผู้นำเหล่านี้เป็นตัวจักรสำคัญที่ทำให้เกิดเผด็จการเบ็ดเสร็จ

o  ยกชูการสร้างสังคมอุดมคติ (Utopia) ตามอุดมการณ์ทางการเมืองของตน
สังคมอุดมคติเป็นภาพของอนาคตที่คาดฝัน ที่กำลังจะมาถึงในอนาคต เป็นสภาพแห่งความสุข ความยุติธรรม เป็นที่น่าเลื่อมใส สูงค่าควรแก่การเสียสละแม้กระทั่งชีวิตของตนเอง ดังนั้นนอกจากการมีผู้นำที่สามารถนำทิศทางคนแล้ว ตัวผู้นำต้องมีประเด็นหรืออุดมการณ์หรืออุดมคติในเรื่องใดหรือทางใดทางหนึ่งที่เป็นเหตุชูโรง ชูการเปลี่ยนแปลงหรือเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างรุนแรง เป็นเหตุให้คนจำนวนมากในสังคมร่วมมือร่วมใจเคลื่อนไปสู่เป้าหมายเดียวกันด้วยอุดมการณ์

เช่น ฮิตเลอร์ต้องการสร้างและยกชูการสร้างชนเชื้อสายอารยันแก่ชาวเยอรมัน ซึ่งตรงกับความต้องการของคนเยอรมันในขณะนั้นที่อยู่ในสภาพตกต่ำอันเนื่องจากความพ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่ 1 เลนินกับสตาลินต้องการสร้างสังคมที่ไม่มีชนชั้น มีแต่ความเท่าเทียมกัน ไม่มีชนชั้นแรงงานที่ถูกกดขี่ขูดรีดอีกต่อไป
            และด้วยเป้าหมายสังคมอุดมคติ มักก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแบบถอนรากถอนโคนในสังคมนั้นๆ เช่น วัฒนธรรมสังคมจีนดั้งเดิมถูกเปลี่ยนแปลงแบบหน้ามือเป็นหลังมือเมื่อเหมาเจ๋อตงปฏิวัติแผ่นดินจีน ก่อให้เกิดการทำลายล้างขนานใหญ่ภายในสังคมนั้นๆ คนทุกคนทุกเพศทุกวัยต่างต้องเข้ารับการอบรมต่อเนื่องยาวนานหลายปีเพื่อเรียนรู้และปรับตัวเข้ากับสังคมใหม่
            พร้อมกับการยกชูเป้าหมายสังคมอุดมคติคือการประกาศศัตรูของประเทศ เช่น โซเวียตมีพวกจักรวรรดินิยมตะวันตกเป็นศัตรู ฮิตเลอร์เป็นศัตรูกับชนเชื้อสายยิว และทุกประเทศที่ขัดขวางความยิ่งใหญ่ของนาซี การประกาศว่าอะไรหรือใครเป็นศัตรูเป็นเครื่องช่วยตอกย้ำอุดมการณ์ของแต่ละคนในสังคม และเห็นภาพชัดขึ้นว่าเป้าหมายคืออะไร

            และถึงแม้หลายคนจะไม่เชื่อว่าจะบรรลุตามอุดมการณ์ได้ เช่น ไม่เชื่อว่าเลนินสามารถขจัดชนชั้นออกจากสังคมได้ทั้งหมด แต่คนเหล่านี้มักจะเชื่อว่าอย่างน้อยชีวิตความเป็นอยู่ของพวกเขาจะดีขึ้นกว่าเดิม เชื่อว่าจะมีสิ่งใหม่ที่ดีกว่าเกิดขึ้น การกดขี่ขูดรีดพวกกรรมการจะลดลง พวกเขาจะได้รับการดูแลที่ดีขึ้น ดังนั้น พวกเขาจึงยินยอมให้เลนินนำพาประเทศ หรือชาวเยอรมันส่วนหนึ่งก็ไม่เห็นด้วยการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์คนยิว แต่พวกเขาเชื่อว่าที่สุดแล้วความโหดร้ายจะหมดไป และพวกเขาจะได้ความสงบสุขและเศรษฐกิจที่ดีขึ้น

o  เกิดขึ้นได้กับหลายอุดมการณ์ทางเมือง
จากประวัติศาสตร์เราพบว่าเผด็จการเบ็ดเสร็จนิยมเกิดขึ้นได้กับหลายอุดมการณ์ เช่น คอมมิวนิสต์ นาซีเยอรมัน ฟาสซิสต์อิตาลี แต่ไม่ใช่ทุกยุคทุกสมัยของอุดมการณ์เหล่านี้จะต้องเป็นเผด็จการเบ็ดเสร็จเสมอไป เช่น คอมมิวนิสต์ในประเทศจีนในปัจจุบันให้ประชาชนมีสิทธิในเจ้าของที่ดิน เจ้าของกิจการ สามารถตัดสินใจเลือกอาชีพของตน เลือกคู่ครองของตนได้

o  อาจเป็นที่ชื่นชอบของพลเมืองหรือไม่ก็ได้
ต้องยอมรับว่าฮิตเลอร์ผู้สร้างระบอบนาซีเยอรมันได้ฟื้นฟูประเทศเยอรมันทั้งระบบเศรษฐกิจ สังคม ความมั่นคง การเมืองระหว่างประเทศ เป็นที่เทิดทูนบูชาของชาวเยอรมนีในยุคนั้น

o  ควบคุมระบบเศรษฐกิจ ทหาร และสื่อสารมวลชน
ไม่ว่าจะเป็นสมัยสตาลิน ฮิตเลอร์ ต่างล้วนควบคุมสิ่งเหล่านี้โดยสมบูรณ์

o  อาจเป็นสังคมที่เจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจ วิทยาศาสตร์ วิทยาการต่างๆ
โซเวียตเป็นคู่แข่งสำคัญของสหรัฐฯในด้านวิทยาศาสตร์ เช่นเทคโนโลยีด้านอวกาศ นาซีเยอรมันได้วางรากฐานวิทยาการหลายด้านแก่โลกหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เช่น เครื่องบินไอพ่น จรวดนำวิถีระยะไกล การสื่อสารทางวิทยุ

o  มีการจัดองค์กรที่เข้มแข็ง
การเคลื่อนไหวทางการเมืองครั้งสำคัญๆ ในประวัติศาสตร์บางครั้งอาจไม่ได้มาจากการจัดองค์ที่เป็นระบบระเบียบ เป็นการเคลื่อนไหวของฝูงชนที่พากันไป แต่การปกครองแบบเผด็จการเบ็ดเสร็จนิยมในระยะก่อนศตวรรษที่ 20 มักจะเป็นการจัดองค์กรที่เข้มแข็งทั้งสิ้น และความเข้มแข็งขององค์กรเป็นเหตุผลสำคัญหนึ่งที่ทำให้ระบอบอยู่ได้

เลนินได้ก่อตั้งพรรคบอลเชวิค (Bolshevik) แล้วว่า 14 ปีก่อนที่เขาจะยึดอำนาจได้ในปี 1917 ด้วยการรวบรวมแต่บรรดาพวกที่เอาจริงเอาจัง เลนินให้เหตุผลว่าการต่อสู้ของเขาต้องใช้เวลายาวนานและชนะได้ด้วยคนกลุ่มเล็กๆที่มีระเบียบวินัยมีอุดมการณ์มากกว่าการเอาคนจำนวนมากๆมารวมกัน ภายใต้คนกลุ่มเล็กๆนี้เลนินให้พวกเขากระจายไปตั้งกลุ่มเซล (cells) และเริ่มขยายตัว เกิดเป็นวงกว้างออกไปพร้อมกับผู้นำระดับรองไปเรื่อยๆ โดยที่ผู้นำระดับในยังอยู่ที่เดิม ซึ่งทำให้เลนินสามารถควบคุมคนแบบศูนย์รวมได้ สมาชิกพรรคทุกระดับต้องยึดถือผลประโยชน์ของพรรคเป็นที่ตั้ง ต้องมาก่อนเรื่องส่วนตัว ทุกคนต้องเสียสละเพื่อพรรค

o  ควบคุมอำนาจทางทหาร ตำรวจอย่างเต็มที่ และใช้หน่วยตำรวจลับอย่างกว้างขวาง
เนื่องจากสังคม ระบอบการปกครองของเผด็จการเบ็ดเสร็จนิยมเป็นการปกครองที่สังคมอยู่ในระเบียบการปกครองที่เข้มงวดเป็นอย่างยิ่ง มีเหตุต้องให้ใช้กำลังกับประชาชนอยู่เสมอ การควบคุมหน่วยกำลังจึงเป็นเรื่องสำคัญ การมีหน่วยกำลังอยู่ในมือเป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งของระบอบการปกครองแบบนี้
            Hitler ใช้หน่วยตำรวจลับที่เรียกว่า Gestapo เพื่อกวาดล้างผู้ต่อต้าน แม้ข้าราชการในพท.ห่างไกลถ้าไม่สนับสนุนฮิตเลอร์ก็จะถูกกำจัด ทำให้สังคมอยู่ในระเบียบที่ต้องการ ไม่มีใครกล้าแสดงความเห็นแตกต่าง

2. เผด็จการอำนาจนิยม (Authoritarianism)
รูปแบบการปกครองนี้ ผู้ปกครองเน้นการครองอยู่ในอำนาจหรือต้องการมีอำนาจทางการเมืองการปกครองอยู่ในมือของตน แต่ยังให้ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพในทรัพย์สิน การดำเนินชีวิตประจำวัน เสรีภาพในการนับถือศาสนา อย่างไรก็ตาม เสรีภาพทั้งหมดจะต้องอยู่ภายใต้กรอบไม่กระทบต่ออำนาจทางการเมืองหรือเป้าหมายของรัฐบาลเผด็จการ ดังนั้น เสรีภาพของสื่อสารมวลชนจึงถูกจำกัดหรือถูกควบคุมให้เสนอสื่อได้เฉพาะทางที่ก่อผลดีต่อรัฐบาล การปฏิบัติศาสนกิจต้องไม่กระทบต่อเสถียรภาพทางการเมืองของรัฐบาล ระบบศาลยุติธรรมถูกควบคุมเพื่อปกป้องความชอบธรรมของตนเองและใช้เป็นเครื่องมือกำจัดผู้ต่อต้าน เป็นต้น

ผู้ปกครองอาจจะเป็นพลเรือนหรือทหารตำรวจที่เข้ามาถืออำนาจปกครอง อาจเป็นเพียงคนเดียว (Autocracy) หรือกลุ่มชนชั้นปกครอง (oligarchy) ที่ปกครองร่วมกัน และการที่ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพ ในบางครั้งเป็นสภาวะทางการเมืองที่ประเทศปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยแต่ภายใต้การปกครองแบบอำนาจนิยมอีกต่อหนึ่ง ดังนั้น สถาบันทางการเมืองหรือกลไกทางการเมืองของประชาธิปไตยที่มีอยู่เดิมจึงไม่อาจทำหน้าที่ได้สมบูรณ์ อาจถูกบังคับให้ระงับการใช้ชั่วคราวหรือเป็นเพียงตรายางเพื่อสร้างความชอบธรรมแก่ผู้นำเผด็จการเท่านั้น ดังนั้น ต้องระมัดระวังอย่างมากในการจะบอกว่าประเทศใดเป็นเผด็จการหรือประชาธิปไตย

การปกครองด้วยทหารตำรวจมักมีที่มาจากการปฏิวัติยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือน โดยยกความชอบธรรมว่าเพื่อการปราบรัฐบาลพลเรือนที่คอร์รัปชัน และเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองเนื่องจากภัยคุกคามนอกประเทศหรือความแตกแยกภายในประเทศ

· เผด็จการอำนาจนิยมแบบรุนแรงกับแบบละมุนละม่อม
การเป็นรัฐบาลเผด็จการอำนาจนิยม แม้มักจะเริ่มต้นด้วยความรุนแรง เช่น การรัฐประหาร และมักปราบปรามผู้ต่อต้านอย่างรุนแรง แต่ก็มีบางรัฐบาลที่ใช้วิธีการที่ละมุนละม่อมมากกว่า ลักษณะที่แตกต่างกัน คือ

เผด็จการอำนาจนิยมแบบรุนแรง
เผด็จการอำนาจนิยมแบบละมุนละม่อม
การปฏิบัติต่อผู้ละเมิดกฎหมาย เสถียรภาพรัฐบาล
มักใช้ความรุนแรง เด็ดขาด ไม่มีข้อยกเว้น
มีการชั่งใจว่าควรใช้ความรุนแรงเฉพาะกับใครบ้าง
นโยบายต่อความเป็นอยู่ของประชาชน
รัฐบาลให้ความสนใจน้อย
รัฐบาลให้ความสนใจมากกว่า
ภาพลักษณ์ของผู้นำ
มีความดุดัน ขึงขัง ถือตัวเองเป็นใหญ่ในทุกด้าน
รู้จัการโอภาปราศรัยมากว่า ผู้นำแสดงออกว่าตนนับถือศาสนา ปฏิบัติศาสนกิจ

เผด็จการอำนาจนิยมแบบรุนแรงบางรัฐบาลพร้อมใช้การปราบปรามอย่างรุนแรงต่อผู้ละเมิดกฎหมาย (ในขณะที่รัฐบางส่วนน้อยเท่านั้นที่จะใช้วิธีการที่ละมุนละม่อม) ดังนั้น การปกครองแบบนี้รัฐบาลมักมีทหารตำรวจให้การสนับสนุนอย่างแข็งขัน หรือบางครั้งผู้นำทหารตำรวจเหล่านี้เป็นผู้ปกครองเสียเอง
ตัวอย่างผู้ปกครองแบบนี้ เช่น ประธานาธิบดี Muammar el-Qaddafi ของประเทศลิเบีย ประธานาธิบดี Castro ของคิวบา (ล่าสุดได้ถอนตัวจากตำแหน่งแล้ว) รัฐบาลทหารพม่าในปัจจุบัน

· เผด็จการอำนาจนิยมกับการสนับสนุนจากประชาชน
มีคำถามว่า เนื่องจากรัฐบาลเผด็จการอำนาจนิยมมีที่มาอำนาจจากความผิดปกติ ไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือปกครองด้วยการริดรอนสิทธิเสรีภาพ ดังนั้นจึงเป็นรัฐบาลที่ชั่วร้าย ประชาชนต่อต้านเสมอใช่หรือไม่
คำตอบคือ ในประวัติศาสตร์ มีผู้นำหรือรัฐบาลอำนาจนิยมที่ประชาชนสนับสนุน เช่น
Napoleon Bonaparte (1769-1821) ยึดอำนาจประเทศและแต่งสวมมงกุฎแต่งตั้งตัวเองเป็นจักรพรรดิ (emperor) ของฝรั่งเศส ในปี 1804 พร้อมกับกล่าวว่า “I am the state – I alone am here the representative of the people.” แม้การได้มาอำนาจจะไม่ชอบ แต่เป็นที่ชื่นชอบและที่รักของชาวฝรั่งเศสในสมัยนั้น เพราะสามารถทำสงครามชนะหลายสมรภูมิกับประเทศใกล้เคียง (แม้ที่สุดจะเป็นฝ่ายพ่ายแพ้สงคราม) ทำให้ชาวฝรั่งเศสรู้สึกมีเกียรติภูมิ ไม่เห็นว่าประเทศของตนเองอ่อนแอ

ประเทศสิงคโปร์ในสมัยของประธานาธิบดี Lee Kuan Yew (1959-1990) ทำให้ประเทศเล็กๆ ที่ไม่มีทรัพยากรใดกลายเป็นประเทศทันสมัย ประชาชนมีการศึกษา มีการคอร์รัปชันน้อยที่สุดในหมู่ประเทศในทวีปเอเชียด้วยกัน

3. ประชาธิปไตย (Democracy)
… (หัวข้อนี้จะนำเสนอเป็นอีกบท)
เอกสารประกอบคำบรรยาย รหัสวิชา2551120 อุดมการณ์ทางการเมือง 
ฉบับเดือนมีนาคม 2553
ชาญชัย คุ้มปัญญา
--------------------------