รูปแบบการปกครอง (1) รูปแบบการปกครองแบบกรีก

การจะบอกว่ามีกี่รูปแบบการปกครอง (Forms of Government) และแต่ละรูปแบบเป็นอย่างไร ขึ้นอยู่กับเกณฑ์ที่ใช้ในการจัด ซึ่งพอจะมีวิธีแบ่งได้หลายแบบ เช่น เกณฑ์จำนวนผู้มีอำนาจปกครอง เกณฑ์สิทธิเสรีภาพของประชาชน เป็นต้น
“รูปแบบการปกครองที่ใช้เกณฑ์จำนวนผู้ปกครองและเป้าหมายของการปกครอง”

            รูปแบบนี้นักวิชาการบางท่านเรียกว่า รูปแบบการปกครองแบบกรีก (Greek Typology of Governments) โดยแบ่งออกเป็น 2 รูปแบบหลัก คือ รูปแบบที่รัฐบาลมีเหตุผลและดำรงอยู่เพื่อความดีงามของรัฐ (polis) กับรูปแบบตรงกันข้ามที่รัฐบาลไม่มีเหตุผลและดำรงอยู่เพื่อผลประโยชน์ของผู้ปกครองเท่านั้น ในแต่ละรูปแบบหลักแบ่งออกเป็น 3 รูปแบบย่อยตามจำนวนผู้ปกครอง คือ 1 คน (one) จำนวนเล็กน้อย (few) และ หลายคน (many)
Government
Pure Form
Impure Form
คนเดียว (of One)
ราชาธิปไตย (Monarchy)
ทรราชย์ (Tyranny)
จำนวนน้อย (of the Few)
อภิชนาธิปไตย (Aristocracy)
คณาธิปไตย (Oligarchy)
จำนวนมาก (of the Many)
มัชฌิมวิถีอธิปไตย (Polity)
ประชาธิปไตย (Democracy)

รูปแบบการปกครองตามแนวทางนี้ แบ่งรูปแบบการปกครองที่ใกล้เคียงกับอุดมคติที่ออกกฎหมายด้วยเหตุผลและเพื่อความผาสุกของประชาชนคือแบบที่ดีที่สุดและลดหลั่นลงมา อธิบายในรายละเอียดได้ว่า

1. การปกครองโดยคน ๆ เดียว หมายถึง ระบบการปกครองที่คนๆ เดียวมีอำนาจอธิปไตยหรืออำนาจสูงสุดเหนือบุคคลทั้งหลายโดยเด็ดขาด หากผู้ปกครองมีคุณธรรมเรียกกว่า ราชาธิปไตย” (Monarchy) ซึ่งอริสโตเติลให้นิยามว่าเป็นการปกครองภายใต้กษัตริย์จอมปราชญ์หรือราชาปราชญ์ (philosopher-king) แต่หากเป็นกษัตรย์ที่กดขี่ข่มเหงราษฎร จะเรียกกว่า ทุชนาธิปไตยหรือ ทรราช” (Tyranny) ที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อผลประโยชน์ของผู้ปกครอง ตัวอย่างเช่น ฮิตเลอร์ในสมัยนาซี
ดังนั้น รูปแบบการปกครองที่ดีที่สุดตามคตินิยมของกรีกคือ การปกครองแบบราชาธิปไตย ในทางกลับกันรูปแบบที่แย่ที่สุดก็คือแบบทรราชย์  (มี ย์ ใช้กับรูปแบบการปกครอง ไม่มี ย์ ใช้กับตัวบุคคล) ที่ใช้อำนาจเพื่อประโยชน์ของส่วนตัวและพวกพ้อง โดยไม่สนใจความทุกข์ยากของประชาชน ไม่ได้ปกครองเพื่อความผาสุกของพลเมือง
พึงระลึกว่า
1)       กษัตริย์จอมปราชญ์ของชาวกรีกต่างจากระบอบกษัตริย์แบบสมบูรณายาสิทธิราชตามคตินิยมของตะวันอินเดียโบราณหรือแบบของจีน ซึ่งมหาราชาหรือจักรพรรดิ์ของจีนได้รับอำนาจจากเทพ หรือเป็นโองการของสวรรค์ ต่างจากของกรีกที่มาจากการคัดสรรคน
2)       การปกครองภายใต้คตินิยมอินเดียโบราณหรือจีนโบราณก็เป็นตามความเชื่อ หลักศาสนา ของชนชาติในยุคสมัยนั้น เป็นความถูกต้องตามความเชื่อที่ยึดถือ ผู้ปกครองจะสืบสันตติวงศ์หรือสืบสายโลหิต ผู้ปกครองทำหน้าที่ทั้งเป็นประมุขของรัฐและเป็นหัวหน้ารัฐบาล คำพูดของกษัริย์ถือเป็นกฎหมาย ดังนั้น จึงมีอำนาจเบ็ดเสร็จ (absolute monarchy)
3)       ปัจจุบัน ยังมีบางประเทศที่มีพระมหากษัตริย์หรือพระราชินี (เช่นกรณีของประเทศอังกฤษ) อยู่ในฐานะประมุขของประเทศ แต่ไม่มีอำนาจในการบริหาร พระมหากษัตรยิ์ทรงอยู่ในฐานะที่ได้รับการยกย่องในเชิงสัญลักษณ์ (symbolic) และไม่ถือว่าประเทศดังกล่าวอยู่ใต้การปกครองแบบ Monarchy

2. การปกครองโดยคณะบุคคล หมายถึง ระบบการปกครองที่บุคคลจำนวนหนึ่งที่มีความสามารถ มีสติปัญญา มีคุณธรรมสูงส่ง เป็นผู้กำหนดกฎเกณฑ์ทางการเมืองและบริหารประเทศ (อาจเทียบกับระบบคณะกรรมการในปัจจุบัน) เพื่อป้องกันการตัดสินใจผิดพลาดของความเป็นมนุษย์และความไม่สมบูรณ์ของคนอันเป็นธรรมดาของมนุษย์ ซึ่งหากมีจุดมุ่งหมายเพื่อบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้กับประชาชนก็จะเป็นรูปการปกครองแบบ อภิชนาธิปไตย” (Aristocracy) แต่หากมีจุดมุ่งหมายเพื่อประโยชน์สุขของพรรคพวกก็จะเป็นรูปการปกครองแบบ คณาธิปไตย” (Oligarchy) ในปัจจุบันยังมีบางประเทศที่มีลักษณะการปกครองแบบนี้ เช่น ประเทศเอล ซัลวาดอร์ กัวเตมาลา โคลอมเบีย ฮอนดูรัส ที่การตัดสินใจนโยบายของรัฐบาลขึ้นอยู่กับผู้มีอิทธิพลไม่กี่กลุ่มในประเทศเหล่านี้

3. การปกครองโดยคนทั้งหมดหรือเสียงส่วนใหญ่ หมายถึง ระบบการปกครองที่ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย (แต่ไม่ได้หมายถึงว่าทุกคนต่างได้เข้าไปบริหารประเทศ ดังนั้น ไม่ใช่ทุกคนเป็นผู้ปกครอง) รูปแบบการปกครองที่อริสโตเติลเรียกว่า มัชฌิมวิถีอธิปไตย (Polity) ซึ่งมีจุดมุ่งหมายเพื่อประโยชน์สุขของคนส่วนรวมอย่างยั่งยืน (ไม่ใช่เพื่อประชาชน-ดูต้นฉบับ Politics Book 3 เล่มที่ 3 บทที่ 7) การใช้คำว่าเพื่อคนส่วนรวมอย่างยั่งยืน ก็เพราะต้องการเน้นว่าเป็นการมองที่เน้นองค์รวมของสังคม มากกว่าการเน้นที่ประชาชนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งหรือคนใดคนหนึ่ง และไม่ใช่เพียงเพราะความสุขชั่วระยะหนึ่งเท่านั้น

คำถามเพื่อการอภิปราย จงยกตัวอย่างนโยบายของรัฐบาลที่ให้ประโยชน์แก่ประชาชนกลุ่มหนึ่ง แต่กลับสร้างความเสียหายแก่สังคมโดยรวม

แต่หากมีจุดมุ่งหมายเพื่อทำตามใจตนเอง ไม่เห็นแก่ส่วนรวม ไม่เห็นแก่ความยั่งยืน ก็จะแปรเปลี่ยนเป็นการปกครองโดยประชาธิปไตย” (Democracy) หรือ ฝูงชน” (Mob-rule) หรือ มวลชนเป็นใหญ่ (rule of the masses) ซึ่งทุกคนมุ่งที่ประโยชน์ของตนเอง ประเทศไปตามมติของเสียงส่วนใหญ่ ซึ่งอาจเป็นทางก่อให้เกิดผลดีหรือเสียก็ได้ ความมีจริยธรรมศีลธรรมหรือไม่ขึ้นอยู่กับผู้มีสิทธิออกเสียง ซึ่งอริสโตเติลเห็นว่าการปกครองโดยคนจำนวนมากไม่น่าจะดี เพราะมองจากสภาพคนในสมัยนั้นที่คนส่วนใหญ่ขาดความรู้ ความเข้าใจในปัญหาบ้านเมือง การตัดสินใจของคนส่วนใหญ่จึงตั้งอยู่บนพื้นฐานของความไม่เข้าใจประเด็นบ้านเมืองอย่างถ่องแท้ มุ่งรักษาผลประโยชน์เฉพาะหน้าของตนเองเป็นหลัก

คำถามเพื่อการอภิปราย ภายใต้การปกครองแบบประชาธิปไตยตามความหมายดังกล่าว เป็นไปได้หรือไม่ว่า จะได้กฎหมายที่สวนทางกับความถูกต้องตามหลักศาสนา
            พึงระลึกว่า ประชาธิปไตยของอริสโตเติล เป็นแบบตามความคิดของท่าน ซึ่งต่างจากนิยามประชาธิปไตยที่ใช้ในปัจจุบัน
เอกสารประกอบคำบรรยาย รหัสวิชา2551120 อุดมการณ์ทางการเมือง
ฉบับเดือนมีนาคม 2553
ชาญชัย คุ้มปัญญา
-----------------------------