เสียงเรียกร้องรัฐบาลอินโดนีเซียยุติอุดหนุนราคาน้ำมัน

เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมารัฐบาลอินโดนีเซียประกาศขึ้นราคาน้ำมัน ท่ามกลางเสียงสนับสนุน เสียงคัดค้าน การชุมนุมประท้วงนโยบายขึ้นราคาน้ำมันจากประชาชนบางกลุ่ม พลโทซูซีโล บัมบัง ยูโดโยโน ประธานาธิบดีอินโดนีเซียให้เหตุผลว่า “เราต้องปกป้องเศรษฐกิจมหภาค” ในขณะที่นักเศรษฐศาสตร์เรียกร้องมานานแล้วให้รัฐบาลเลิกนโยบายอุดหนุนราคาน้ำมัน ซึ่งกินงบประมาณจำนวนมหาศาล ก่อผลเสียมากมาย
นโยบายอุดหนุนราคาน้ำมัน
            อินโดนีเซียเป็นประเทศที่ดำเนินนโยบายอุดหนุนราคาน้ำมันต่อเนื่องยาวนาน คือตั้งแต่ปีค.ศ. 1967 รัฐบาลประกาศว่าเพื่อเพิ่มกำลังซื้อแก่ประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อย ทั้งจะช่วยตรึงราคาสินค้าอื่นๆ ไปในตัว ในเวลาเกือบ 5 ทศวรรษ ประเทศผลัดเปลี่ยนรัฐบาลหลายชุด ผ่านสถานการณ์ทั้งในและต่างประเทศมากมาย ผ่านความผันผวนของราคาน้ำมันตลาดโลก บางช่วงรัฐบาลเพิ่มการอุดหนุน บางช่วงลดการอุดหนุน ปรับเปลี่ยนรูปแบบหลายครั้ง ปัจจุบันใช้วิธีตรึงราคาน้ำมันสำเร็จรูปหลายชนิด ดำเนินมาตรการอุดหนุนหลายอย่างเพื่อกดค่าไฟฟ้าจนต่ำกว่าราคาทุน
            รัฐบาลชุดปัจจุบันมีนโยบายลดการอุดหนุน เคยประกาศว่าจะค่อยๆ ลดการอุดหนุนร้อยละ 10-15 ต่อปีในช่วง 2011-14 แต่ที่ผ่านมาไม่ได้ดำเนินตามแผนเนื่องจากไม่อาจทนแรงกดดันจากการประท้วง การขึ้นราคาในเดือนมิถุนายนนี้เป็นการปรับขึ้นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2008 หรือเท่ากับรัฐบาลได้ตรึงราคา 5 ปีแล้ว โดยจะขึ้นราคาน้ำมันเบนซินจากปัจจุบันที่ราคา 4,500 รูเปียร์อินโดนีเซีย หรือเท่ากับ 16.56 บาทต่อลิตร (คิดจาก 1,000 รูเปียร์ต่อ 3.68 บาท) เป็น 6,500 รูเปียร์อินโดนีเซียหรือเท่ากับ 23.92 บาท ส่วนน้ำมันดีเซลจะขึ้นจาก 4,500 รูเปียร์อินโดนีเซีย (ราคาเดียวกับน้ำมันเบนซิน) หรือเท่ากับ 16.56 บาทต่อลิตร เป็น 5,500 รูเปียร์อินโดนีเซียหรือเท่ากับ 20.24 บาท
            คาดว่าผลการขึ้นราคาน้ำมันจะทำให้สินค้าอื่นๆ หลายรายการขึ้นราคาตาม เช่น ข้าวสาร ค่าขนส่ง ในการนี้รัฐบาลเตรียมรองรับผลกระทบโดยจะให้เงินสงเคราะห์ 150,000 รูเปียร์ต่อเดือนแก่ผู้มีรายได้น้อย 15.5 ล้านครอบครัว คาดว่าจะช่วยคนอินโดนีเซียได้ราว 62 ล้านคน หรือราวหนึ่งในสี่ของประชากรทั้งหมด นายชาติบ บาสรี รัฐมนตรีกระทรวงการคลังชี้ว่าหากรัฐบาลไม่ให้ความช่วยเหลือดังกล่าวจำนวนผู้ยากจนจะเพิ่มจากร้อยละ 10.5 เป็นร้อยละ 12.1 หรือเท่ากับเพิ่มขึ้นอีก 4 ล้านคน ทำให้มีผู้ยากจนทั้งสิ้นราว 30 ล้านคน เป็นการเปลี่ยนจากการอุดหนุนน้ำมันแก่ทุกคนมาเป็นการอุดหนุนผู้มีรายได้น้อยอย่างเจาะจง
            การที่รัฐบาลต้องออกนโยบายช่วยเหลือรองรับการขึ้นราคาน้ำมัน ก่อให้เกิดความคิดความรู้สึกหลายอย่าง สะท้อนว่าประชาชนจำนวนถึงหนึ่งในสี่อยู่ในสภาพที่ต้องรอรับความช่วยเหลือจากรัฐ การปรับขึ้นราคาน้ำมันอาจกระทบต่อประชาชนจำนวนมาก นโยบายให้เงินสงเคราะห์ช่วยบรรเทาผลกระทบได้มากน้อยเพียงไร รัฐบาลยังต้องทำงานอีกมาเพื่อแก้ปัญหาความยากจน และเกิดคำถามว่าประเทศกำลังก้าวไปสู่ทิศทางที่ถูกต้องหรือไม่
           
เสียงเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกการอุดหนุนทั้งหมด
            เรื่องหนึ่งที่ต้องตระหนักคือราคาใหม่ยังเป็นราคาอุดหนุนอยู่ดี ยังต่ำกว่าราคาตลาดโลกไม่ต่ำกว่าร้อยละ 30 นั่นหมายความว่ารัฐบาลยังต้องใช้ภาษีของประชาชนเพื่ออุดหนุนราคา บรรดานักเศรษฐศาสตร์กับผู้นำธุรกิจเรียกร้องให้รัฐบาลยุติการอุดหนุนน้ำมันโดยสมบูรณ์ โดยให้เหตุผลดังนี้
            ประการแรก เบียดบังงบประมาณที่ใช้ในทางอื่น
            ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับการอุดหนุนมักจะเปรียบเทียบงบประมาณที่รัฐบาลใช้อุดหนุนกับงบประมาณด้านการลงทุน งบประมาณเพื่อการพัฒนาประเทศ เช่น งบประมาณที่รัฐบาลใช้อุดหนุนราคาน้ำมันในปี 2010 เป็นเงินมากกว่างบประมาณที่ให้กับ 4 กระทรวงเหล่านี้รวมกัน อันได้แก่ กระทรวงกลาโหม กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
            สองปีก่อนหน้านั้น (2008) เป็นปีที่นโยบายอุดหนุนราคาน้ำมันกินงบประมาณมากที่สุด คือต้องใช้งบประมาณรวมทั้งสิ้นราวร้อยละ 4 ของจีดีพีหรือเท่ากับร้อยละ 20 ของงบประมาณรายงายประจำปี (2008) งบประมาณดังกล่าวสูงกว่างบประมาณที่ใช้ในการลงทุนกับงบประมาณที่ใช้ในโครงการช่วยเหลือสังคมทั้งหมดรวมกัน เนื่องจากเป็นปีที่ราคาน้ำมันโลกปรับตัวขึ้นสูงผิดปกติ รัฐบาลยืนยันตรึงราคาเท่าเดิมทำให้ต้องใช้งบประมาณเพิ่มขึ้นมาก ส่วนปีที่แล้ว (2012) รัฐบาลต้องใช้งบประมาณอุดหนุนน้ำมันทั้งหมดราว 2 หมื่นล้านดอลลาร์ (ราว 6 แสนล้านบาท)
            ผลเสียคือขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของประเทศลดลง เสียโอกาสที่จะใช้เงินเพื่อพัฒนาประเทศ
            ประการที่สอง ทำให้งบประมาณขาดดุล
            เนื่องจากน้ำมันราคาถูกก่อให้เกิดการใช้อย่างฟุ่มเฟือยไร้ประสิทธิภาพ ประเทศที่ครั้งหนึ่งเป็นผู้ส่งออกน้ำมันมาวันนี้กลายเป็นผู้นำเข้า และเมื่อต้องนำเข้าในราคาตลาดโลกแล้วนำมาขายในราคาต่ำกว่าจึงเป็นเหตุให้รัฐบาลต้องขาดดุลงบประมาณ ส่งผลไม่เพียงแต่ทำให้รัฐบาลตัดลดงบประมาณกระทรวงอื่นๆ ยังต้องกู้เงินเพิ่มเติม เป็นภาระที่ประชาชนต้องแบกรับ
            ประการที่สาม เกิดผลเสียอื่นๆ อีกหลายด้าน
            การที่น้ำมันในประเทศมีราคาต่ำกว่าตลาดโลก จึงไม่มีผู้ใดสนใจพัฒนาหรือลงทุนในอุตสาหกรรมพลังงานทางเลือก อุตสาหกรรมต่างๆ ไม่ให้ความสำคัญกับการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพเพราะไม่คุ้มค่าการลงทุนเพื่อการประหยัดพลังงาน น้ำมันจำนวนมากถูกลักลอบนำไปขายแก่ผู้ให้ราคาสูงกว่าทั้งในและต่างประเทศ และการที่สังคมมุ่งใช้น้ำมันที่ได้รับการอุดหนุนซึ่งมีคุณภาพต่ำกว่าส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่าที่ควร
            ประการที่สี่ กลุ่มผู้มีฐานะดีคือผู้ได้ประโยชน์มากกว่า
            International Institute for Sustainable Development ชี้ว่ามีหลักฐานงานวิจัยมากมายให้ข้อสรุปว่าความจริงแล้วผู้ที่ได้รับประโยชน์จากการอุดหนุนราคาน้ำมันมากที่สุดไม่ใช่ผู้มีรายได้น้อย แต่เป็นกลุ่มผู้มีฐานะดีเนื่องจากมีกำลังซื้อมากกว่า วิถีชีวิตของพวกเขาใช้พลังงานมากกว่า (บ้านมีเครื่องปรับอากาศ มีเครื่องใช้ไฟฟ้าจำนวนมาก มีรถยนต์ ส่วนคนจนนั่งรถเมล์หรือขี่มอเตอร์ไซค์)
            ข้อมูลชิ้นหนึ่งชี้ว่าหากนำประชาชนอินโดนีเซียทั้งประเทศมาต่อแถวเรียงตามฐานะทางเศรษฐกิจจากผู้มีฐานะดีสุดไล่ลงมาเรื่อยๆ จนถึงคนยากไร้ที่สุด พบว่าในแถว 100 คนนั้น หัวแถว 10 คนแรกที่ร่ำรวยสุดเป็นผู้บริโภคน้ำมัน (ที่รัฐอุดหนุน) ถึงร้อยละ 45 ของปริมาณน้ำมันทั้งหมด ส่วนท้ายแถว 10 คนสุดท้ายที่ยากไร้ที่สุดรวมกันแล้วบริโภคน้ำมันไม่เกินร้อยละ 1
            งานวิจัยอีกชิ้นพบว่าหัวแถว 50 คนจากฝั่งผู้มีฐานะบริโภคน้ำมันกว่าร้อยละ 90 เท่ากับว่าประชากรอีกครึ่งที่เป็นผู้มีรายได้น้อยกว่าจนถึงน้อยที่สุดนั้นได้ประโยชน์จากงบประมาณอุดหนุนไม่ถึงร้อยละ 10 เท่านั้น กรณีค่าไฟฟ้ามีลักษณะทำนองเดียวกัน
            นโยบายที่รัฐบาลประกาศว่าจะช่วยเหลือคนยากคนจน แท้จริงแล้วกลุ่มคนผู้มีฐานะดีต่างหากที่ได้ประโยชน์มากที่สุด

            สังคมอินโดนีเซียถกเถียงเรื่อยมาว่ารัฐควรอุดหนุนราคาน้ำมันหรือไม่ ฝ่ายที่เห็นควรจะอ้างว่าเป็นการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย ป้องกันสินค้าขึ้นราคา ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยชี้ว่าทำให้สังคมใช้น้ำมันฟุ่มเฟือยไร้ประสิทธิภาพ รัฐบาลต้องนำเงินภาษีซึ่งก็คือเงินประชาชนทั้งประเทศมาใช้อุดหนุน ต้องตัดงบประมาณกระทรวงอื่นๆ ตัดงบประมาณที่ใช้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน พัฒนาขีดความสามารถในการพัฒนาประเทศ ส่งผลให้เสียต่อการพัฒนาประเทศในระยะยาว ทั้งยังเกิดคำถามว่าหากรัฐบาลนำงบอุดหนุนมาพัฒนาแรงงาน สร้างอาชีพแก่ชุมนุม หรือใช้ในโครงการอื่นๆ ที่เป็นประโยชน์แก่ผู้ยากไร้จะเป็นประโยชน์มากกว่าหรือไม่ ดังคำกล่าวที่ว่า ไม่มีของฟรีในโลก
            มีผู้ทำการศึกษาและพบว่าแทนที่รัฐบาลจะใช้นโยบายอุดหนุนราคาน้ำมัน หากปล่อยให้ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศลอยตัวตามกลไกตลาดโลก สังคมใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ประเทศอินโดนีเซียจะกลายเป็นผู้ส่งออกน้ำมัน รัฐมีกำไรจากการขายน้ำมัน สามารถนำกำไรเหล่านี้มาพัฒนาประเทศ ช่วยเหลือประชาชนให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เป็นคำถามให้คิดว่านโยบายใดเป็นทางเลือกที่ดีกว่า
            อินโดนีเซียเป็นประเทศที่ดำเนินนโยบายอุดหนุนราคาน้ำมันมาอย่างยาวนานเกือบ 5 ทศวรรษแล้ว มีผู้ศึกษาวิจัยทั้งในและต่างประเทศจำนวนมาก ผลดีผลเสียที่เกิดขึ้นเห็นชัดเจน ไม่อาจพูดว่าผู้ถือครองอำนาจรัฐกับสังคมไม่รู้ผลดีผลเสีย รัฐบาลชุดปัจจุบันเข้าใจสถานการณ์ที่เกิดขึ้น แต่ ณ วันนี้อยู่ในภาวะต้องเผชิญแรงกดดันหลายด้าน ไม่ว่าจะเลือกดำเนินนโยบายทางใดล้วนเกิดผลกระทบแง่ลบบางด้าน จะอุดหนุนมากเท่าเดิมก็ทำไม่ได้ หากลอยตัวก็จะสร้างปัญหา มีแรงกดดันจากกลุ่มผู้ประท้วงเรื่อยมา ในขณะที่บางคนเห็นว่าการปฏิรูปจะเกิดขึ้นได้จริงถ้าไม่มีการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง มีตัวอย่างหลายประเทศที่ประสบความสำเร็จในการปฏิรูปแม้มีรายได้ต่อหัวต่ำกว่าอินโดนีเซีย ดังนั้นอินโดนีเซียน่าจะทำได้ด้วย แต่ที่รัฐบาลไม่ทำเช่นนั้นเนื่องด้วยหวังผลประโยชน์ทางการเมือง ทิ้งรากปัญหาให้ประชาชนทั้งประเทศแบกรับต่อไป
            ในทางปฏิบัติคงเป็นไปไม่ได้ที่จะแยกการเมืองออกจากการปฏิรูป สุดท้ายเป็นเรื่องของการตัดสินใจของคนทั้งสังคมว่าต้องการอะไร ที่สำคัญคือต้องผ่านการใคร่ครวญอย่างรอบคอบ อย่างมีความเข้าใจ  รู้ว่าผู้ได้ประโยชน์จากนโยบายคือใคร ผลดีผลเสียเป็นอย่างไร มีทางเลือกที่ดีกว่าหรือไม่ แก้ปัญหาอย่างมีวิสัยทัศน์อย่างมียุทธศาสตร์ หากมองในภาพกว้างนโยบายอุดหนุนน้ำมันเป็นเพียงตัวแทนหนึ่งของนโยบายอื่นๆ ที่สังคมจำต้องรู้และตัดสินใจ เพราะส่งผลกระทบโดยตรงแก่คนรุ่นปัจจุบันและคนในรุ่นอนาคต
            นายซูรโย บัมบัง ซูสิสโต (Suryo Bambang Sulisto) ประธานหอการค้าและอุตสาหกรรมอินโดนีเซีย (Indonesian Chamber of Commerce and Industry) กล่าวว่ารัฐบาล “ควรนำเงินที่ใช้อุดหนุนไปพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน” ของประเทศจะดีกว่า “การอุดหนุนน้ำมันเหมือนมะเร็งร้าย” หากยิ่งชะลอเวลาเนิ่นนานออกไปโรคจะยิ่งลุกลาม “การรักษานั้นเจ็บปวดแต่จะช่วยให้แข็งแรงขึ้น สุขภาพดีขึ้น”
23 มิถุนายน 2013
ชาญชัย คุ้มปัญญา

(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 17 ฉบับที่ 6075 วันอาทิตย์ที่ 23 มิถุนายน พ.ศ.2556) 
-----------------------------

บรรณานุกรม:
1. Indonesia president defends fuel hike plan after protests, AFP, 18 June 2013, http://sg.news.yahoo.com/indonesia-presses-fuel-hike-despite-popular-anger-073355364.html
2.  Annabelle Mourougane, Phasing Out Energy Subsidies in Indonesia, OECD Economics Department Working Papers, No. 808, OECD Publishing, http://www.oecd-ilibrary.org/docserver/download/5km5xvc9c46k.pdf?expires=1371740999&id=id&accname=guest&checksum=E1B783BF9EDFDEA8BC9342C5964623E0
3. Fuel-price hike has to wait, The Jakarta Post, 19 June 2013,
http://www.thejakartapost.com/news/2013/06/19/fuel-price-hike-has-wait.html
4. Abolish All Fuel Subsidies, Kadin Tells Govt, The Jakarta Globe, 19 June 2013, http://www.thejakartaglobe.com/news/next-abolish-all-fuel-subsidies-kadin-tells-govt/
5. Tim Bulman, Wolfgang Fengler and Mohamad Ikhsan, Indonesia's Oil Subsidy Opportunity, Far Eastern Economic Review, June 2008, http://siteresources.worldbank.org/INTINDONESIA/Resources/226271-1176706430507/3681211-1180923540599/oil_feer.pdf
6. Sophie Song, Indonesia's Move To Cut Fuel Subsidy Could Make A Difference For The Country's Economic Future, International Business Times, 20 June 2013, http://www.ibtimes.com/indonesias-move-cut-fuel-subsidy-could-make-difference-countrys-economic-future-1314837#
7. A Citizen's Guide to Energy Subsidies in Indonesia, International Institute for Sustainable Development, http://www.iisd.org/pdf/2011/indonesia_czguide_eng.pdf, accessed 20 June 2013
8. Govt finally announces new fuel prices, The Jakarta Post, 21 June 2013, http://www.thejakartapost.com/news/2013/06/21/govt-finally-announces-new-fuel-prices.html
----------------