โทนเสียงที่เปลี่ยนไปของบารัก โอบามา

เมื่อคืนวันที่ 12 กุมภาพันธ์ (ตามเวลาอเมริกา) ประธานาธิบดีบารัก โอบามากล่าวคำแถลงนโยบาย (State of the Union) ประจำปี 2013 ครั้งนี้เป็นครั้งที่ห้าของการแถลงนโยบายที่กระทำเป็นประจำทุกปีต่อที่ประชุมรัฐสภา
            สิ่งแรกที่ชัดเจนคือประธานาธิบดีโอบามาบรรยายสภาพเศรษฐกิจประเทศที่ฟื้นตัวจากภาวะถดถอย การจ้างงานเพิ่มขึ้น ชาวอเมริกันมีเงินซื้อรถยนต์มากกว่าเมื่อห้าปีก่อน ตลาดบ้านกำลังคึกคักอย่างคาดไม่ถึง ดัชนีตลาดหุ้นเป็นบวก ตอกย้ำสุนทรพจน์เข้ารับตำแหน่งสมัยที่สองเมื่อสามสัปดาห์ก่อน ไม่ต้องอ้างเหตุผลว่าเหตุที่เศรษฐกิจอ่อนแอเพราะอดีตประธานาธิบดีจากพรรครีพับลิกันทิ้งไว้เป็นมรดกแก่ตน
            จุดที่น่าสนใจที่สุดคือตลอดคำแถลงนโยบายประธานาธิบดีโอบามากล่าวให้ความสำคัญต่อพรรคคู่แข่งคือพรรครีพับลิกันเป็นระยะๆ เรียกร้องความร่วมมือจากพรรคฝ่ายค้านหลายครั้งหลายหนโดยเฉพาะประเด็นภายในประเทศ ตั้งแต่เรื่องเศรษฐกิจ การตัดลดงบประมาณจนถึงเรื่องการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (ภาวะโลกร้อน) ประธานาธิบดีนำเสนอนโยบาย มาตรการใหม่ๆ ที่เชื่อว่าสองพรรคจะเห็นพ้องต้องกันผ่านนโยบายเหล่านั้น แสดงท่าทีแห่งการประนีประนอม การขอทำงานร่วมกัน ทั้งยังตระหนักว่าการเจรจาระหว่างสองพรรคนั้นไม่ง่ายและ “ไม่มีพรรคใดจะได้ทุกอย่างที่ต้องการร้อยเปอร์เซ็นต์”
            ท่าทีประนีประนอมเหล่านี้แตกต่างจากช่วงหาเสียงที่โต้แย้งต่อสู้ในข้อเสนอนโยบายต่างๆ กับพรรคคู่แข่งอย่างไม่ลดละ จากวันนั้นที่สู้ไม่ถอยมาเป็นวันนี้ที่ขอให้ต่างฝ่ายถอยออกจากจุดยืนเดิมคนละก้าว หันหน้าเจรจาหาทางออกที่สองฝ่ายเห็นร่วมกัน

            Fiscal Cliff คือประเด็นที่ถูกเอ่ยถึงอย่างชัดเจน นักวิเคราะห์บางคนเห็นว่าเป็นประเด็นสำคัญที่สุดเพราะเหลืออีกเพียงสองสัปดาห์ก็ถึงกำหนดตัดงบประมาณอัตโนมัติ ในฐานะประธานาธิบดีผู้รับผิดชอบบริหารประเทศจำต้องหาทางออกให้ได้ เพราะหากไม่มีข้อสรุปทันเวลาจะเกิดการตัดงบประมาณอัตโนมัติในปีนี้ราว 1 ล้านล้านดอลลาร์ กระทบต่อการป้องกันประเทศ การศึกษา พลังงานและการวิจัยทางการแพทย์ ทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวช้า คนอีกนับร้อยนับพันจะตกงาน สรุปสั้นๆ คือกระทบต่อแทบทุกภาคส่วนของประเทศรวมทั้งคะแนนนิยมด้วย
            ท่าทีของประธานาธิบดีโอบามาคือขอให้แก้ไขปัญหาทันเวลา โดยเสนอหลักการให้เศรษฐกิจเติบโตโดยมีความสมดุลระหว่างการขาดดุลกับการลดการขาดดุล มีการตัดลดร่ายจ่ายควบคู่กับการหารายได้เพิ่ม ประชาชนทุกคนต้องรับภาระอย่างยุติธรรม และพร้อมจะรับฟังความเห็นจากทั้งสองพรรคเพื่อปฏิรูประบบประกันสุขภาพ (Medicare) เพื่อประหยัดงบประมาณ ปรับลดภาษีที่ประชนชนจ่ายเพื่อสนับสนุนบริษัทยา (ด้านการวิจัย) ลดค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาล
            ข้อเสนอปฏิรูประบบประกันสุขภาพเป็นอีกประเด็นหนึ่งแสดงถึงการประนีประนอม ถอยออกจากนโยบายเดิมอย่างชัดเจน
            ในเรื่องขอความร่วมมือจากพรรคคู่แข่งนั้นประธานาธิบดีโอบามาถึงกับหยอดคำหวานว่า “สองสามปีที่ผ่านมา ผลจากการทำงานร่วมกันของทั้งสองพรรคช่วยลดการขาดดุลได้กว่า 2.5 ล้านล้านดอลลาร์ ส่วนใหญ่มาจากการตัดงบประมาณ อีกส่วนมาจากการขึ้นอัตราภาษีคนอเมริกันกลุ่มร่ำรวยที่สุด 1 เปอร์เซ็นต์แรก ดังนั้น เรามาถึงกว่าครึ่งทางของเป้าหมายลดการขาดดุลจำนวน 4 ล้านล้านดอลลาร์ ตัวเลขที่นักเศรษฐศาสตร์พูดว่าจะช่วยรักษาเสถียรภาพทางการเงินของเรา”
            นอกจากประเด็นเรื่องการใช้งบประมาณดังกล่าว อีกประเด็นที่ให้ความสำคัญต่อเนื่องตลอด 4-5 ปีที่ผ่านมาคือการแก้ปัญหาคนว่างงาน แม้ว่าอัตราคนว่างงานปัจจุบันมีแนวโน้มดีขึ้น ประธานาธิบดีโอบามายังใช้โอกาสนี้กล่าวแนวทางการสร้างงานตามที่หาเสียงไว้ ตั้งแต่เรื่องเสนอปรับลดภาษีแก่บริษัทเอกชนที่เพิ่มการจ้างงานในประเทศ และลดการลดหย่อนภาษีแก่บริษัทที่จ้างแรงงานต่างประเทศ การเพิ่มตำแหน่งงานใหม่โดยสนับสนุนเอกชนเปิดโรงงานอุตสาหกรรมใหม่ๆ ก่อตั้งศูนย์อุตสาหกรรมไฮเทค เพิ่มการลงทุนในด้านวิทยาศาสตร์และการสร้างนวัตกรรม
            เรื่องการแก้ปัญหาคนว่างงานผูกโยงกับกลุ่มชนชั้นกลางเป็นอย่างมาก เริ่มจากรัฐบาลจะสนับสนุนการศึกษาก่อนวัยเรียนที่มีคุณภาพ เพื่อให้เด็กๆ ได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพตั้งแต่ยังเป็นเด็กเล็กๆ สนับสนุนระบบการศึกษาต่อเนื่องแก่คนวัยทำงาน สอดคล้องกับนโยบายเน้นการผลิตสินค้าไฮเทค แนวทางทั้งหมดมุ่งเป้าให้ประเทศมีกลุ่มชนชั้นกลางมากขึ้น เป็นแรงงานมีคุณภาพผลิตสินค้ามีคุณภาพ
            ทั้งหมดนี้ประธานาธิบดีบารัก โอบามากล่าวว่าเพื่อสร้าง “ครอบครัว ชุมนุมที่เข้มแข็งยิ่งขึ้น อันจะทำให้ประเทศอเมริกาแข็งแกร่งกว่าเดิม”


            ประธานาธิบดีบารัก โอบามาในวันนี้ไม่ได้รับแรงกดดันมากเท่ากับสี่ปีก่อน เพราะเศรษฐกิจกำลังฟื้นตัว สถานการณ์โลกแม้ยังมีความขัดแย้งบางจุดแต่โดยรวมค่อนข้างสงบ อีกทั้งขณะนี้เป็นประธานาธิบดีสมัยที่สองแล้ว ไม่มีความจำเป็นต้องฟาดฟันพรรคคู่แข่งโดยไม่จำเป็น คำแถลงนโยบายทำให้เห็นภาพว่าประเทศกำลังดีขึ้นและทุกอย่างจะไปด้วยดีหากสองพรรคร่วมมือผ่านร่างกฎหมายต่างๆ เพื่อสร้างอเมริกาให้เข้มแข็ง
            จุดที่ฉุกคิดคือหากถอยออกจากมุมมองตามคำแถลงนโยบายกลับสู่ข้อมูลพื้นฐาน คำถามที่ยังค้างคาคือเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่กำลังฟื้นตัวจะเป็นการฟื้นตัวอย่างยั่งยืนหรือไม่ อเมริกาไม่อาจอยู่ในภาวะขาดดุลไปเรื่อยๆ การแก้ปัญหา Fiscal Cliff นับจากปลายเดือนนี้จะแสดงร่องรอยของปัญหาที่แฝงอยู่และช่วยคาดการณ์อนาคต
            ไม่ว่าประธานาธิบดีบารัก โอบามาจะกล่าวปราศรัยด้วยโทนเสียงใด พยายามนำไปสู่ทิศทางใด ย่อมไม่อาจเปลี่ยนรากความจริงจนกว่าปัญหาจะได้รับการแก้ไข ประชาคมโลกย่อมหวังว่าสี่ปีต่อจากนี้ประธานาธิบดีโอบามากับสองพรรคการเมืองจะมีส่วนทำให้เศรษฐกิจอเมริกาเข้มแข็งอันจะมีส่วนช่วยให้เศรษฐกิจโลกเข้มแข็งด้วย
15 กุมภาพันธ์ 2013
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ได้รับการเผยแพร่ที่ US Watch โดย กรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้ กระทรวงการต่างประเทศ http://uswatch.mfa.go.th/uswatch/th/article/detail.php?article=1497)
--------------------------
บทความที่เกี่ยวข้อง: โอบามาไม่ได้ถือไม้กายสิทธิ์
บรรณานุกรม:
1. Full text: State of the Union Address, USA TODAY, 12 February 2013, http://www.usatoday.com/story/news/politics/2013/02/12/state-of-the-union-obama-text/1914769/
2. Full text of President Barack Obama’s inauguration speech, 21 January 2013, http://news.nationalpost.com/2013/01/21/full-text-of-president-barack-obamas-inauguration-speech/
3.การเมืองในประเทศ ขวากหนามโอบามา ขวากหนามอเมริกา, ไทยโพสต์, 23 มกราคม พ.ศ.2556, http://www.chanchaivision.com/2013/01/blog-post_23.html
4. State of the Union May Well Set Tone for Budget Talks, CNBC, 12 February 2013, http://www.cnbc.com/id/100450482
-------------------------------------