ฟร็องซัว ออล็องด์ กับความจริงที่ต้องเผชิญ

ประธานาธิบดีฟร็องซัว ออล็องด์ ผู้ชนะการเลือกตั้งในเดือนพฤษภาคมเมื่อปีที่ผ่านมาเคยให้คำมั่นว่าจะลดการขาดดุลภาครัฐไม่ให้เกินร้อยละ 3 ของอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) และตั้งเป้าให้จีดีพีปี 2013 เติบโตร้อยละ 1.7 แต่เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมาหลังบริหารประเทศได้ 9 เดือน ประธานาธิบดีออล็องด์ยอมรับว่าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจปีนี้จะไม่ถึงเป้าที่กำหนด รัฐมนตรีต่างประเทศโลรองต์ ฟาบิอุส กล่าวว่าจะเติบโตเพียงร้อยละ 0.2-0.3 ส่วนกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) คาดการณ์เมื่อเดือนธันวาคมว่าเศรษฐกิจฝรั่งเศสในปี 2013 จะโตร้อยละ 0.4 ดังนั้นมีความเป็นได้สูงว่าอัตราเติบโตทางเศรษฐกิจของฝรั่งเศสในปีนี้จะห่างจากเป้าที่ประธานาธิบดีออล็องด์ประกาศไว้อย่างมาก
            นอกจากนี้ รัฐบาลฝรั่งเศสยอมรับอีกว่าในปี 2013 นี้จะไม่สามารถลดการขาดดุลภาครัฐตามเพดานที่สหภาพยุโรป (อียู) กำหนดไว้ไม่เกินร้อยละ 3 ของจีดีพี ข้อมูลล่าสุดยังชี้ว่าประเทศมีผู้ว่างงานร้อยละ 10.6 สูงเป็นประวัติการณ์ในรอบ 15 ปี เฉพาะคนวัยหนุ่มสาวตกงานถึงร้อยละ 27
            สภาพที่เศรษฐกิจโตน้อย ขาดดุลมาก อัตราคนว่างงานพุ่งสูง คือความจริงสามข้อแรกที่ประธานาธิบดีออล็องด์ต้องเผชิญ
            กองทุนการเงินระหว่างประเทศให้ข้อแนะนำว่ารัฐบาลจำต้องลดหนี้สิน ลดการขาดดุลในรูปแบบที่เกื้อหนุนให้เศรษฐกิจเติบโตควบคู่กันไป ทำให้ตลาดเงินมั่นใจว่าประเทศจะสามารถรับมือปัญหาหนี้สาธารณะ สภาพที่ฝรั่งเศสโตน้อยขาดดุลมากจึงก่อให้เกิดข้อสงสัยว่ารัฐบาลจะสามารถปฏิบัติตามคำแนะนำเหล่านี้ได้มากน้อยเพียงใด จะเป็นเพียงลมปากอย่างคำมั่นว่าจีดีพีจะโตร้อยละ 1.7 ของประธานาธิบดีออล็องด์หรือไม่
            ความคาดหวังที่เปลี่ยนแปลง คำมั่นที่ไม่เป็นจริงไม่อาจโทษรัฐบาลเพียงฝ่ายเดียว ปัจจัยภายนอกอย่างเศรษฐกิจยุโรปที่ยังคงอ่อนแอจากการที่หลายประเทศในกลุ่มอยู่ระหว่างปรับภาวะการคลังให้สมดุลเป็นอีกเหตุผลที่กระทบเศรษฐกิจฝรั่งเศส
            แต่ประเด็นภายในประเทศคือส่วนที่รัฐบาลไม่อาจปัดความรับผิดชอบได้
            นอกจากคำแนะนำเรื่องการใช้จ่ายงบประมาณ รักษาการเติบโตทางเศรษฐกิจ กองทุนการเงินระหว่างประเทศชี้ว่าปัญหาใหญ่ของฝรั่งเศสในขณะนี้คือความสามารถการแข่งขันไม่อาจสู้ประเทศคู่แข่ง ถ้าฝรั่งเศสต้องการให้เศรษฐกิจแข็งแรงจำต้องเพิ่มความสามารถการแข่งขันเชิงเปรียบเทียบ และหากไม่แก้ไขจะกลายเป็นปัญหาใหญ่ในอนาคต โดยเสนอให้แก้ไขหลายประการ หนึ่งในนั้นคือการปรับแก้กฎหมายแรงงานให้เอื้อต่อการจ้างและการปลดพนักงานออก และลดภาษีการจ้างแรงงาน (payroll taxes) เพื่อเอื้อให้นายจ้างเพิ่มการจ้างงาน ปรับชั่วโมงการทำงานให้ยืดหยุ่นมากขึ้น จำกัดการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ และลดสวัสดิการคนว่างงานเพื่อให้คนอยากหางานทำมากขึ้น
            เหตุที่ไอเอ็มเอฟแนะนำดังกล่าวเนื่องจากผลจากกฎหมายแรงงานก่อปัญหาหลายประการ ทำให้ทุกวันนี้นายจ้างไม่อยากจ้างพนักงานประจำ ร้อยละ 90 ของการจ้างงานปัจจุบันจึงเป็นการทำสัญญาจ้างชั่วคราว มีผู้ทำการสำรวจพบว่าในปี 2012 มีการจ้างงานชั่วคราว 21 ล้านตำแหน่ง ในจำนวนนี้ 14 ล้านตำแหน่งเป็นสัญญาจ้างที่มีอายุเพียง 1 เดือนเท่านั้น ค่าแรงขั้นต่ำที่สูงยังทำให้นายจ้างหวังจ้างแต่แรงงานที่ทำงานได้จริง ไม่ต้องการเด็กฝึกงาน เป็นเหตุผลหนึ่งทำให้คนวัยหนุ่มสาวตกงานมากถึงร้อยละ 27

            ผู้เชี่ยวชาญบางคนเสนอว่ากุญแจที่จะทำให้เศรษฐกิจเข้มแข็งและเพิ่มการจ้างงานจำต้องปฏิรูปโครงสร้างแรงงาน หนึ่งในนั้นคือใช้นโยบายแรงงานที่ตอบสนองความต้องการของผู้ประกอบการให้มากกว่าที่เป็นอยู่ ให้สามารถแข่งขันกับตลาดควบคู่กับตอบสนองแรงงาน การปรับเงื่อนไขการทำงานที่เอื้อให้บริษัทอยากจะลงทุนและเพิ่มการจ้างงานลูกจ้างประจำ ความท้าทายของรัฐบาลอยู่ที่ว่าจะสร้างเศรษฐกิจที่เข้มแข็งอย่างไรที่สอดคล้องลักษณะสังคม
            ในขณะนี้มีความร่วมมือระหว่างสหภาพแรงงานกับรัฐบาลที่จะร่วมแก้กฎหมายแรงงานเพื่อลดค่าใช้จ่ายของนายจ้างหากนายจ้างต้องการปลดพนักงาน และให้ความมั่นคงแก่ลูกจ้างชั่วคราวมากขึ้น การแก้กฎหมายดังกล่าวน่าจะทำให้สถานการณ์แรงงานดีขึ้น เป็นประโยชน์ทั้งต่อผู้ประกอบการกับลูกจ้างชั่วคราว แต่นั่นเป็นเพียงการแก้ไขส่วนหนึ่งของปัญหาเท่านั้น
            แนวทางการแก้ปัญหาแรงงานที่ดีที่สุดคือยังเป็นที่ถกเถียงกันมาก มีทั้งผู้เห็นด้วยและผู้ไม่เห็นด้วยกับการปรับแก้โครงสร้างแรงงานอย่างถึงรากถึงโคน แรงต่อสู้ระหว่างฝ่ายสนับสนุนกับฝ่ายต่อต้านยังแรงทั้งสองฝ่าย รวมทั้งแรงต้านจากภายในพรรคสังคมนิยมของประธานาธิบดีออล็องด์ การปฏิรูประบบแรงงานจึงน่าจะเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไปตอบสนองสถานการณ์เฉพาะหน้าไปเรื่อยๆ จนกว่าสังคมจะเรียนรู้และตัดสินใจร่วมกันเพื่อแก้ปัญหาอย่างถึงรากถึงโคน
            ดังนั้น โอกาสที่ฝรั่งเศสจะสามารถรื้อฟื้นความสามารถการแข่งกันกับประเทศคู่แข่งจะไม่เห็นผลในเร็ววัน ผลคือกระทบต่อความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจของประเทศ นี่คือความจริงอีกประการหนึ่งที่ประธานาธิบดีฟร็องซัว ออล็องด์ จะต้องเผชิญ
21 กุมภาพันธ์ 2013
ชาญชัย คุ้มปัญญา
------------------------------

บรรณานุกรม:
1. French President-Elect Francois Hollande’s Economic Proposals, Bloomberg News, 6 May 2012, http://www.businessweek.com/news/2012-05-06/french-president-elect-francois-hollande-s-economic-proposals
2. France facing up to minimal economic growth this year, Reuters, 20 February 2013, http://uk.news.yahoo.com/france-facing-minimal-economic-growth-231502610--business.html
3. French Economy Needs Competitive Edge to Grow, IMF Survey Magazine, 21 December 2012, http://www.imf.org/external/pubs/ft/survey/so/2012/car122112a.htm
4. IMF and Gallois report urge France to cut labour costs, BBC, 5 November 2012, http://www.bbc.co.uk/news/business-20203878
5. Battling French decline, Charlemagne European politics, 14 November 2012, http://www.economist.com/blogs/charlemagne/2012/11/fran%C3%A7ois-hollande
6. France battles with labour market reform, Financial Times, 9 January 2013, http://www.ft.com/cms/s/0/05b54c84-5a63-11e2-bc93-00144feab49a.html#axzz2LUTFZKpi
7. French unions, employers strike deal on labour reform, Reuters, 11 January, 2013, http://uk.reuters.com/article/2013/01/11/uk-france-labour-idUKBRE90A15620130111
8. Sarkozy’s insufficient labourmarket reforms, 10 April 2008, http://www.institutmolinari.org/sarkozy-s-insufficient-labour,183.html
9. Autumn economic forecast: sailing through rough waters, http://ec.europa.eu/economy_finance/eu/forecasts/2012_autumn/fr_en.pdf
10. France Youth Unemployment Rate: 27.00% for Dec 2012, http://ycharts.com/indicators/france_youth_unemployment_rate_lfs
----------------------