คนหนุ่มสาวตกงาน ปัญหาเศรษฐกิจสเปน

ในยามที่เศรษฐกิจประเทศตกต่ำ ปัญหาเกิดขึ้นมากมายหลายประการ กระทบต่อแทบทุกคนในสังคม สเปนเป็นอีกประเทศในกลุ่มยูโรโซนที่กำลังถูกกล่าวถึงอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดสถาบันสถิติแห่งชาติสเปนรายงานอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจปีที่แล้วหดตัวร้อยละ 1.37 มากกว่าที่ธนาคารแห่งชาติสเปนคาดการณ์ จีดีพีประจำไตรมาสสี่ลดลงร้อยละ 0.7 เป็นการหดตัวต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่หกแล้ว เป็นผลจากการตัดงบประมาณ คนว่างงานที่เพิ่มขึ้นและครัวเรือนรัดเข็มขัด
เศรษฐกิจที่อ่อนแอกระทบต่อการจ้างงาน ข้อมูลล่าสุดอัตราคนว่างงานในสเปนมีมากถึงร้อยละ 26 ในจำนวนนี้มากกว่าครึ่งหรือร้อยละ 55.13 คือคนหนุ่มสาวผู้มีอายุระหว่าง 16-25 ปี
สภาพการว่างงานของคนหนุ่มสาวนั้นไม่ธรรมดา เพราะอัตราว่างงานกลุ่มนี้เพิ่มขึ้นอย่างน่าตกใจ คือเพิ่มจากร้อยละ 18 ในปี 2007 มาเป็นกว่าร้อยละ 55 ในปัจจุบัน
            เหตุผลคนหนุ่มสาวว่างงานจำนวนมาก เกิดจาก 2 สาเหตุหลัก
ประการแรก ผลจากวิกฤตเศรษฐกิจ
ในช่วงปี 2007 สเปนประสบภาวะเศรษฐกิจถดถอย และภาวะฟองสบู่แตกของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ อุตสาหกรรมการก่อสร้างหดตัวอย่างรุนแรง เกิดหนี้เสียจำนวนมาก ภาคธนาคารไม่ได้รับเงินคืนจากการกู้ยืม เกิดวิกฤตภาคธนาคารที่ส่งผลมาถึงปัจจุบัน
แต่วิกฤตเศรษฐกิจไม่ใช่เหตุผลเดียวที่สร้างปัญหา
สาเหตุประการต่อมาคือ เกิดจากกฎหมายแรงงานของสเปน
การจ้างงานของสเปนมี 2 ประเภท คือการจ้างงานชั่วคราวกับการจ้างงานประจำ กรณีลูกจ้างชั่วคราวจะได้รับสิทธิประโยชน์ การคุ้มครองจากกฎหมายน้อยและมักจะถูกเลิกจ้างโดยง่าย แรงงานกลุ่มนี้คิดเป็นประมาณ 1 ใน 3 ของแรงงานทั้งหมด ในขณะที่ลูกจ้างประจำได้รับการคุ้มครองสูง นายจ้างต้องเสียค่าใช้จ่ายจำนวนมากเพื่อเลิกจ้าง
ผลคือพวกลูกจ้างชั่วคราวคือกลุ่มที่จะถูกปลดเมื่อนายจ้างต้องการลดคนงาน วิกฤตเศรษฐกิจฟองสบู่ที่ผ่านมาแรงงานกลุ่มนี้ได้รับผลกระทบมากที่สุด
ส่วนพวกพนักงานประจำนั้น นายจ้างจะระมัดระวังที่จะไล่ออกหรือรับเพิ่ม พนักงานประจำจึงค่อนข้างปลอดภัยจากการตกงาน ในขณะที่นายจ้างจะพยายามไม่จ้างพนักงานประจำเพิ่ม และเลือกวิธีหาลูกจ้างชั่วคราวแทน
นอกจากนี้ นโยบายค่าแรงขั้นต่ำที่ทำให้โรงงานอุตสาหกรรมประเภทเดียวกันหรือในเขตพื้นที่เดียวกันจะต้องจ่ายค่าแรงในระดับใกล้เคียงกัน ทำให้นายจ้างไม่สามารถจ่ายค่าจ้างให้พนักงานตามผลงานได้อย่างจริงจัง ในทางกลับกันลูกจ้างไม่มีแรงจูงใจที่ต้องทำงานหนัก ประเด็นนี้ทำให้เศรษฐกิจสเปนไม่มีประสิทธิภาพ

รัฐบาลปัจจุบันให้ความสำคัญกับปัญหาคนหนุ่มสาวว่างงาน ล่าสุดนายกรัฐมนตรี มาเรียโน ราโคย กล่าว่าเขากำลังจะเสนอ “ยุทธศาสตร์เพิ่มการจ้างงานและส่งเสริมให้คนหนุ่มสาวเป็นผู้ประกอบการ” สัปดาห์ก่อนนายกฯ ราโคยพูดว่ารัฐบาลจะยืดขยายการให้สวัสดิการแก่ที่ผู้ว่างงานเป็นเวลานานตราบเท่าที่อัตราว่างงานยังสูงกว่าร้อยละ 20 และมีแผนกระตุ้นเศรษฐกิจอุดหนุนทางการเงินเพื่อส่งเสริมให้ประชาชนซื้อรถใหม่ อุตสาหกรรมรถยนต์เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ

            หนึ่งปีก่อนหน้านี้ นายกฯ ราโคย ได้ประกาศใช้แผนปฏิรูปตลาดแรงงานที่มุ่งช่วยเหลือคนหนุ่มสาว แต่สหภาพแรงงานต่อต้านแผนดังกล่าวเพราะเห็นว่าแผนนั้นเอื้อให้นายจ้างปลดพนักงานประจำ
            นอกจากแนวทางความช่วยเหลือดังกล่าวข้างต้น Luis Cortès ชี้ว่าตัวเลขหนุ่มสาวว่างงานที่เพิ่มขึ้นมากส่วนหนึ่งเกิดจากยุคฟองสบู่ตลาดอสังหาริมทรัพย์ ในช่วงนั้นคนหนุ่มสาวจำนวนมากออกจากโรงเรียนแล้วไปทำงานเหล่านั้น ต่อมาเมื่อฟองสบู่แตกอุตสาหกรรมการก่อสร้างหดตัวอย่างรุนแรง คนกลุ่มเหล่านี้จึงกลายเป็นอดีตลูกจ้างแรงงานไร้ฝีมือที่ตกงาน
            แนวทางการแก้ไขที่ผู้เชี่ยวชาญเสนอคือรักษาเศรษฐกิจให้เติบโต ให้คนรุ่นใหม่มีการศึกษาดี มีทักษะที่นายจ้างต้องการ ด้วยการเรียนพร้อมกับการฝึกงานซึ่งประสบผลดีในเยอรมนี
            หากมองย้อนตั้งแต่ต้นจนจบ ปัญหาคนหนุ่มสาวสเปนว่างงานไม่ใช่ปัญหาใหม่ เป็นส่วนหนึ่งของปัญหาเศรษฐกิจประเทศ รัฐบาลสเปนทุกยุคสมัยประกาศจะแก้ไขมาโดยตลอด ไม่ว่าเหตุผลคืออะไรสิ่งที่เกิดขึ้นคืออัตราคนว่างงานทั้งประเทศสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะคนหนุ่มสาวที่เพิ่มจากตัวเลขไม่ถึงร้อยละ 20 กลายเป็นกว่าร้อยละ 55 ในปัจจุบัน เป็นหลักฐานชี้ว่านอกจากแก้ไขปัญหาไม่ได้ สภาพการณ์ยังเลวร้ายลง
            ตั้งแต่ปลายปีที่แล้วจนถึงวันนี้เศรษฐกิจยูโรโซนทรงตัว การไม่มีข่าวร้ายคือเป็นข่าวดี เช่นเดียวกับเศรษฐกิจจีนที่ตลาดคลายความกังวล เศรษฐกิจอเมริกาที่ค่อยๆ ฟื้นตัว รัฐบาลใหม่ญี่ปุ่นกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างเต็มที่ ตลาดเงินตลาดทุนสดใส
            ภาวะเศรษฐกิจที่น่าจะมีเสถียรภาพในขณะนี้ควรจะเป็นปัจจัยส่งเสริมให้สเปนได้รับอานิสงส์ด้วย รวมถึงคนว่างงานที่จะลดน้อยลงโดยเฉพาะกลุ่มคนหนุ่มสาว นี่เป็นประเด็นท้าทายรัฐบาลมาเรียโน ราโคย ในทางกลับกันหากไม่สามารถฉวยประโยชน์ในช่วงนี้ และหากเศรษฐกิจโลกที่ทรงตัวกลับอ่อนแอลงอีก เท่ากับว่ารัฐบาลพลาดโอกาสที่ดีเสียแล้ว และชี้ว่าการเยียวยาเศรษฐกิจสเปนนั้นยากกว่าที่คิด
4 กุมภาพันธ์ 2013
ชาญชัย คุ้มปัญญา
--------------------------
บรรณานุกรม:
1. Spanish economy shrank 0.7 percent in fourth quarter, EL PAIS, 30 January 2013, http://elpais.com/elpais/2013/01/30/inenglish/1359555856_862717.html
2. Spain GDP Shrinks For Sixth Straight Quarter, Sky News, 30 January 2013, http://uk.news.yahoo.com/spain-gdp-shrinks-sixth-straight-quarter-082726590--finance.html
3. Luis Cortès, How to fight youth unemployment? http://www.mpdl.org/descargas/121212-final-report-youth-unemployment-spain.pdf
4.Samuel Bentolila, Juan Dolado and Juan Francisco Jimeno, The Spanish labour market: A very costly insider-outsider divide, 20 January 2012, http://www.voxeu.org/article/jobless-spain-what-can-be-done-about-insider-outsider-divide)
5. กองยุโรป 2, วิกฤตเศรษฐกิจในประเทศสเปน, 05 September 2012, http://news.thaieurope.net/content/view/3977/122/
6. Spanish Premier Vows New Steps as Economy Contracts, WSJ, 30 January 2013, http://professional.wsj.com/article/SB10001424127887323701904578273221517501196.html?mg=reno64-wsj
7. Katinka Barysch, Europe's youth job crisis, http://www.cer.org.uk/insights/europes-youth-job-crisis?
-------------------------------