เมื่อวันที่
9 มกราคมที่ผ่านมา นายสุรินทร์ พิศสุวรรณ
อดีตเลขาธิการอาเซียนที่เพิ่งดำรงตำแหน่งครบวาระ 5
ปีได้กล่าวสุนทรพจน์สุดท้าย พร้อมกับที่นายเล ลุงมินห์
เลขาธิการอาเซียนคนใหม่จากประเทศเวียดนามกล่าวสุนทรพจน์แรกเมื่อเริ่มเข้าทำงาน
สุนทรพจน์ทั้งสองได้กล่าวถึงหรือสะท้อนให้เห็นภาพอาเซียนบางอย่างที่สำคัญ
ทำให้เห็นความคืบหน้า โอกาส อุปสรรคและปัญหาสำคัญๆ ของอาเซียน
บทความนี้ได้สังเคราะห์วิเคราะห์สุนทรพจน์ทั้งสอง และนำเสนอเรื่องราวทั้งหมดตาม
3 เสาหลักประชาคมอาเซียนพร้อมกับภาพรวม ดังนี้
ประการแรก ความท้าทายต่อเสาประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน
ในเรื่องทั่วๆ
ไป เลขาธิการ เล ย้ำว่าจะพยายามขับเคลื่อนให้ชาติสมาชิกทุกประเทศลงนามข้อตกลงหรือปฏิบัติตามความร่วมมือต่างๆ
ของอาเซียน เช่น สนธิสัญญาไมตรีและความร่วมมือในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Treaty of Amity and Cooperation in Southeast Asia) เพิ่มความร่วมมือต้านภัยคุกคามรูปแบบใหม่ (non-traditional) เช่น การก่อการร้าย อาชญกรรมข้ามชาติ
ภัยธรรมชาติ
ความท้าทายที่สำคัญที่สุดยังเป็นเรื่องการสร้างความร่วมมือและไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างสมาชิก
การสร้างแนวทางปฏิบัติร่วม ป้องกันความขัดแย้งและแก้ไขข้อพิพาท
การอ้างกรรมสิทธิในทะเลจีนใต้เป็นข้อขัดแย้งที่สำคัญที่สุด หน้าที่ของอาเซียนคือเร่งหารือกับจีนเพื่อรับรองแนวปฏิบัติในทะเลจีนใต้ (Code of Conduct in the South China Sea หรือ COC) ตามแนวทางของอาเซียนที่ยังไม่สามารถตกลงกับจีน
ประเด็นการเรียกร้องสิทธิในทะเลจีนใต้ที่ประชาชนมักค่อยรับรู้คือ
อาเซียนไม่ได้มีปัญหาเฉพาะกับจีน ประเด็นนี้เป็นปัญหาระหว่างชาติสมาชิกอาเซียนด้วย
และความขัดแย้งซับซ้อนยิ่งขึ้นเมื่อมหาอำนาจทั้งจีนกับสหรัฐอเมริกาต่างเข้ามาเกี่ยวข้อง
เป็นเวทีที่สองยักษ์ใหญ่แสดงอำนาจของตน
อดีตเลขาธิการนายสุรินทร์
พิศสุวรรณ เตือนว่าในทศวรรษหน้าโลกจะเต็มด้วยพลวัตของอำนาจ ความท้าทายจะเพิ่มมากขึ้น
เกิดการทดสอบความเป็นเอกภาพ ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของชาติสมาชิกอาเซียน
เป็นคำถามว่าทำอย่างไรอาเซียนจึงสามารถอยู่กับมหาอำนาจที่กำลังแข่งขันกันอยู่ในขณะนี้
ทำอย่างไรชาติสมาชิกอาเซียนจะมีความไว้เนื้อเชื่อใจยิ่งขึ้น มีความยืดหยุ่น หันหน้าเข้าหากันเพื่อสันติภาพ
เสถียรภาพร่วมกัน ไม่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศ
อาเซียนที่ก่อตั้งมาเพื่อแก้ปัญหาความมั่นโดยแท้ยังต้องดำเนินการแก้ไขกันต่อไป
ประการที่สอง ความท้าทายต่อเสาประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน
มีข่าวดีว่าในปี
2012 ที่ผ่านมาปริมาณการค้าในภายในอาเซียนเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ
25.4
แต่เลขาธิการ
เล ชี้ว่าอาเซียนยังมีงานต้องทำอีกมากเพื่อให้สินค้าต่างๆ
เคลื่อนไหวในภูมิภาคได้โดยเสรี ปฏิบัติตามการเปิดเสรีการค้าอย่างสมบูรณ์ ยกเลิกอุปสรรคทางการค้าที่ไม่ใช่มาตรการทางภาษีทั้งหมด
ระบบศุลกากรที่มีมาตรฐานเป็นหนึ่งเดียว อาเซียนเหลือเวลาอีก 3 ปีในการบรรลุผลข้อนี้ ยังมีความท้าทายที่รออยู่มาก
ปัญหาสำคัญของอาเซียนคือ
ชาติสมาชิกมีระดับการพัฒนาหรือความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจแตกต่างกันมาก ทำอย่างไรจึงจะลดช่องว่างดังกล่าว
ที่ผ่านมาเห็นได้ชัดว่าชาติสมาชิกไม่ได้ให้ความร่วมมืออย่างสมบูรณ์
ทำอย่างไรจึงจะเพิ่มความร่วมมือและเป็นความร่วมมือที่ชาติสมาชิกทุกประเทศได้รับประโยชน์มากที่สุด
อดีตเลขาธิการอาเซียนกล่าวถึงปัญหานี้เช่นกัน
โดยเสนอให้เร่งดำเนินตามแผน ‘การริเริ่มการรวมกลุ่มอาเซียน’ (Initiative for ASEAN Integration หรือ
IAI) สนับสนุนแผนการพัฒนาประเทศของชาติสมาชิก เช่น Lao Pilot
Project (LPP) ของประเทศลาว
ความร่วมมือทางเศรษฐกิจจะต้องเอื้อให้ชาติสมาชิกทั้งหลายได้ประโยชน์มากที่สุด
ไม่ใช่บางประเทศได้มากแต่บางประเทศได้น้อยกว่าที่ควร
อาเซียนต้องก้าวไปข้างหน้าด้วยการลดช่องว่างระดับการพัฒนาประเทศ
ประการที่สาม ความท้าทายต่อเสาสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน
ช่วงที่ผ่านมาอาเซียนประสบความสำเร็จในเรื่องการลงนามปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน
ก่อตั้งคณะกรรมาธิการอาเซียนด้านส่งเสริมและสนับสนุนสิทธิของสตรีและเด็ก (ASEAN
Commission for Women and Children) ศูนย์ประสานงานเพื่อให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในการบริหารจัดการภัยพิบัติ
(ASEAN Coordinating Center for Humanitarian Assistance on Disaster
Management หรือ AHA Center)
และในหัวข้อนี้ เลขาธิการอาเซียนคนใหม่ย้ำให้ความสำคัญเป็นพิเศษต่อคุณภาพการศึกษาของเยาวชน
ส่วนอดีตเลขาธิการกล่าวว่าต้องให้ความสำคัญต่อเรื่องของประชาชนมากขึ้น เช่น
สิทธิมนุษยชน ศักดิ์ศรีและความมั่นคงของมนุษย์
ทั้งคู่ชี้ว่าหัวใจของของอาเซียนคือประชาชน
ย่างเข้าใกล้ทศวรรษที่
5 ตั้งแต่ก่อตั้งอาเซียน
ความไว้เนื้อเชื่อใจในหมู่ชาติสมาชิกยังเป็นงานหลักของอาเซียนด้านความมั่นคง
แม้ว่าภัยคุกคามจากสงครามเย็นได้ยุติไปแล้วกว่ายี่สิบปีแล้วก็ตาม อาเซียนยังวนเวียนกับการสร้างแนวทางป้องกันความขัดแย้งและแก้ไขข้อพิพาทภายใน
และความท้าทายกำลังทวีกำลังรุนแรงขึ้น
ความร่วมมือทางเศรษฐกิจเป็นเรื่องดีและไม่อาจหลบหนี
แต่การพัฒนาอย่างไรจึงจะเอื้อประโยชน์แก่ชาติสมาชิกทุกประเทศสูงสุด
โดยต้องยอมรับความจริงว่าแต่ประเทศมีโอกาสหรือศักยภาพทางเศรษฐกิจไม่เท่าเทียมกัน
ทำอย่างไรจึงจะประสานโอกาสและศักยภาพในหมู่ชาติสมาชิกอาเซียนด้วยกันในในยามที่ประเทศอื่นๆ
นอกอาเซียนกำลังร่วมมือและแข่งขันอย่างจริงจัง
และที่สุดแล้ว
การรวมตัวเป็นอาเซียนหรือประชาคมอาเซียนต้องเห็นประชาชนเป็นเป้าหมาย
เป็นตัวชี้วัดสำเร็จที่แท้จริง
ทั้งหมดนี้นายสุรินทร์
พิศสุวรรณ อดีตเลขาธิการอาเซียนกล่าวแนะนำในสุนทรพจน์สุดท้ายว่าต้องเพิ่มความพยายามในการสร้างประชาคมอาเซียน
เร่งการสร้างความร่วมมือกับทั่วโลก
อาเซียนจะก้าวไปข้างหน้าหรือถอยหลังย่อมขึ้นกับชาติสมาชิกอาเซียนเป็นสำคัญ
11 มกราคม 2013
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน ไทยโพสต์ ปีที่ 17 ฉบับที่ 5912 วันศุกร์ที่ 11 มกราคม พ.ศ.2556)
----------------------------------
บรรณานุกรม:
1. Inaugural Speech by HE Le Luong Minh Secretary-General of
ASEAN at the Transfer of Office Ceremony, http://www.asean.org/news/asean-statement-communiques/item/inaugural-speech-by-he-le-luong-minh-secretary-general-of-asean-at-the-transfer-of-office-ceremony
2. Speech By Outgoing Secretary-General (2008 – 2012) H.E.
Surin Pitsuwan Ceremony for the Transfer of Office of the Secretary – General
of ASEAN, ASEAN Secretariat, 09 January 2013, http://www.asean.org/news/asean-statement-communiques/item/speech-by-outgoing-secretary-general-2008-2012-he-surin-pitsuwan-ceremony-for-the-transfer-of-office-of-the-secretary-general-of-asean-asean-secretariat-09-january-2013
---------------