ประเด็นโลก ประเด็นร้อน 10 – 16 ธันวาคม 2012

Fiscal Cliff: ปัญหาที่รุนแรงและซับซ้อนกว่าที่คิด
            เรื่องราวของ Fiscal Cliff นับวันเป็นที่สนใจและมีการพูดถึงมากเพราะใกล้กำหนดวันที่ Fiscal Cliff จะเริ่มแผลงฤทธิ์เมื่อเข้าสู่ปี 2013 นักการเมืองทั้งพรรคเดโมแครตกับรีพับลิกันและแม้กระทั่งประธานาธิบดีบารัก โอบามาต่างเร่งเจรจาเพื่อหาทางออกในเรื่องนี้
            นักวิเคราะห์บางคนเชื่อว่ารัฐสภาอเมริกาจะไม่เผชิญหน้าปัญหายากๆ นี้และจะซุกปัญหาไว้ใต้พรมต่อไป การเจรจาแก้ปัญหาที่ดำเนินกันอยู่ขณะนี้จึงมุ่งแนวทางแบบแก้ผ้าเอาหน้ารอด เป็นการถกเถียงกันว่าจะปรุงยาบรรเทาปวดชุดใหม่อย่างไร
            บทความ Our Collapsing Economy and Currency ของดร.พอล เครก โรเบิรตส์ เป็นอีกบทความหนึ่งที่ชี้ว่า Fiscal Cliff เป็นเพียงอาการแสดงออกอย่างหนึ่งของปัญหาเศรษฐกิจสหรัฐฯ ดังนั้นเมื่อพูดถึงประเด็นนี้จึงหมายถึงการพูดถึงปัญหาเศรษฐกิจ บทความได้สรุปปัญหาเศรษฐกิจที่สำคัญพร้อมแนวทางแก้ไข แต่เมื่อศึกษาพบว่าแนวทางแก้ไขนั้นมีข้อวิพากษ์ที่น่าขบคิด
            ต้นเหตุปัญหาเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญมีสามเรื่อง เรื่องแรกคือการที่คนชั้นกลางในประเทศสูญเสียตำแหน่งงานแก่ต่างประเทศ ทั้งตำแหน่งงานในโรงงานอุตสาหกรรมหรืองานวิชาชีพ เช่น วิศวกร งานวิจัย งานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ งานเหล่านี้เดิมเคยเป็นของคนอเมริกันที่จบปริญญา แต่ปัจจุบันหันไปจ้างบริษัทต่างประเทศหรือจ้างแรงงานต่างชาติที่เข้ามาทำงานในสหรัฐฯ ที่ยอมรับเงินเดือนเพียงสองในสาม
            ปัญหาข้อสองคือภาคการเงินการธนาคารไม่ได้รับการดูแลควบคุมอย่างเพียงพอ ทำให้สถาบันการเงินลงในทุนธุรกิจแบบเก็งกำไร เกิดการฉ้อฉลภายในบริษัท ซึ่งเป็นต้นเหตุของวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2009 ธนาคารพาณิชย์อยู่ในสภาพรัฐไม่อาจปล่อยให้ล้ม ต้องนำเงินภาษีประชาชนจำนวนมากเข้ามาอุ้มชู แม้ช่วยพยุงสถาบันการเงินไว้ได้แต่เท่ากับสนับสนุนธุรกิจที่ไร้ประสิทธิภาพตามระบบทุนนิยม
            ปัญหาข้อสุดท้ายเป็นผลจากรัฐบาลในอดีตที่ทำสงครามนอกประเทศทำให้รัฐสูญเสียงบประมาณมหาศาล เกิดภาระค่าใช้จ่ายที่ตามมาจากผลพวงของสงคราม เช่น ค่าดูแลรักษาพยาบาลทหารผ่านศึก
            แนวทางแก้ไขปัญหาข้อแรกคือ ต้องดึงตำแหน่งงานที่สูญหายไปให้กลับมาเป็นของคนอเมริกัน ซึ่งเท่ากับเป็นการเพิ่มรายได้แก่ฝ่ายผู้บริโภค ช่วยให้เศรษฐกิจเติบโตและรัฐจัดเก็บภาษีได้มากขึ้น โดยใช้วิธีเพิ่มภาษีบริษัทอเมริกันที่สร้างคุณประโยชน์แก่ต่างประเทศ และปรับลดภาษีแก่บริษัทอเมริกันที่เอื้อประโยชน์แก่ประเทศโดยตรง เช่น จ้างงานคนอเมริกัน เพื่อให้เกิดการจ้างคนอเมริกันเพิ่มและให้โรงงานอุตสาหกรรมอเมริกันที่ไปตั้งกิจการในต่างประเทศกลับมายังประเทศอันจะช่วยลดการขาดดุลการค้าอีกทางหนึ่งด้วย
            ข้อวิพากษ์คือ เหตุที่บริษัทอเมริกันไปลงทุนต่างประเทศหรือใช้แรงงานต่างชาติ เป็นไปตามหลักทุนนิยมที่มุ่งลดต้นทุนให้ต่ำสุด เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันสูงสุด เพื่อแสวงหากำไรสูงสุด ทุนนั้นไหลไปสู่จุดที่มีกำไรสูงสุดเสมอ การเสนอเพิ่มหรือปรับลดภาษีเป็นเพียงทฤษฎีที่บริษัทต้องคำนวณว่าวิธีไหนได้กำไรมากกว่ากัน ดังนั้นจึงต้องคำนวณอย่างจริงจังเพื่อดูว่าจะได้ผลเพียงใด
            การดึงการผลิตกลับมาสู่ประเทศ เพิ่มการจ้างแรงงานภายในประเทศยังเกี่ยวข้องกับต้นทุนของสินค้าบริการนั้นด้วย ถ้าหากแพงขึ้นย่อมหมายถึงผู้บริโภคอเมริกันที่ซื้อสินค้าดังกล่าวต้องใช้จ่ายเพิ่มขึ้น และไม่สามารถแข่งขันกับสินค้ายี่ห้ออื่นที่มีต้นทุนต่ำกว่า เป็นคำถามว่าคนอเมริกันที่มีปัญหารายได้อยู่แล้วจะยอมจ่ายแพงขึ้นหรือไม่ และสินค้าบริการที่มีต้นทุนสูงกว่านั้นจะอยู่รอดในตลาดได้ดีเพียงใด
            แนวทางแก้ไขปัญหาข้อสองนั้น นับตั้งแต่วิกฤตสถาบันการเงินในปี 2008-2009 รัฐบาลกลางพยายามออกมาตรการควบคุมภาคการเงินการธนาคารมากขึ้น แต่ภายในสถาบันการเงินนั้นซับซ้อน มีช่องว่างที่อาศัยการตัดสินใจของบุคคลหรือสามารถสร้างระบบเพื่อหลีกเลี่ยงการตรวจสอบ ในทางปฏิบัติการควบคุมกำกับจะได้ผลมากน้อยเพียงใดจึงยังเป็นที่สงสัย
            ส่วนเรื่องการปล่อยให้ธนาคารล้มหรือไม่นั้น เหตุการณ์ในช่วงปี 2008-2009 รัฐบาลสหรัฐฯ ยอมปล่อยให้สถาบันการเงินบางแห่งล้มเช่นกัน อย่างกรณีของเลห์แมน บราเธอร์ส แต่ไม่อาจปล่อยให้ล้มทั้งหมดเพราะคิดว่าการปล่อยให้ล้มอาจกระทบต่อประชาชนจำนวนมาก ยิ่งทำให้ระบบเศรษฐกิจปั่นป่วน เป็นประเด็นถกเถียงกันมานานแล้ว
            ปัญหาเรื่องการทำสงครามนอกประเทศเป็นเพียงประเด็นเดียวที่ค่อนข้างชัดว่ารัฐบาลของประธานาธิบดีโอบามากำลังปรับลดการส่งทหารออกไปทำศึกนอกประเทศ ดังเช่นที่ถอนทหารออกจากอิรักแล้ว และจะถอนทหารออกจากอัฟกานิสถานในปีหน้า

            การพูดถึงการแก้ไขปัญหา Fiscal Cliff หากมองเพียงระยะสั้นอาจตกหลุมพรางของการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ละเลยการแก้รากปัญหา เหมือนกับการจัดเตรียมยาบรรเทาปวดอีกชุดเพื่อยืดเวลาออกไปอีกหน่อย ส่วนการแก้ที่รากปัญหานั้นโดยตัวมันเองก็ยากอยู่แล้ว และตราบใดที่สังคมอเมริกันไม่สามารถสรุปแนวทางแก้ไขที่เห็นพ้องต้องกันยิ่งทำให้เห็นว่าปัญหาอาจลุกลามบานปลายกว่าที่เป็นอยู่และคงต้องอยู่กับเราไปอีกนาน
            การมองเรื่อง Fiscal Cliff จึงควรพิจารณาถึงรากปัญหาและแนวทางแก้ไขที่ปฏิบัติได้จริง
7 ธันวาคม 2012
ชาญชัย คุ้มปัญญา
----------------------
บรรณานุกรม:
1. Fiscal Cliff การตัดสินใจครั้งสำคัญของสหรัฐฯ http://chanchaiblogger.blogspot.com/2012/10/fiscal-cliff.html
2. Paul Craig Roberts. Our Collapsing Economy and Currency. http://www.paulcraigroberts.org/2012/12/01/our-collapsing-economy-and-currency/
3. Daniel Mitchell: Fiscal cliff not the real problem. http://www.ocregister.com/opinion/tax-379482-government-won.html
4. The Real Fiscal Cliffhttp://www.nationalreview.com/articles/334726/real-fiscal-cliff-conrad-black#
5. Fiscal Cliff: House Republican Proposal Abandons Core Principles, Gains Little. http://blog.heritage.org/2012/12/03/fiscal-cliff-house-republican-proposal-abandons-core-principles-gains-little/
---------------------