นับตั้งแต่ข้อพิพาทหมู่เกาะเตียวหยู/เซนกากุระหว่างจีนกับญี่ปุ่นปะทุขึ้นอีกรอบเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา
รัฐบาลทั้งสองประเทศยึดมั่นว่าเป็นดินแดนของตน เกิดเหตุขัดแย้งทางการเมืองหลายครั้งและลามไปถึงการค้าระหว่างสองประเทศเมื่อชาวจีนส่วนหนึ่งประท้วงไม่ซื้อสินค้าญี่ปุ่นโดยเฉพาะรถยนต์ญี่ปุ่น
ชาวญี่ปุ่นในจีนบางคนถูกทำร้ายถูกคุกคาม
การเดินทางไปมาระหว่างคนสองประเทศพลอยลดลงไปด้วย
ตลอดสองสามเดือนที่ผ่านมา สื่อมวลชนจีนนำเสนอข่าวการค้าระหว่างสองประเทศอย่างต่อเนื่อง
และชี้ว่าญี่ปุ่นกำลังได้รับความเสียหายอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด China Daily
เสนอข่าวจากรายงานของกระทรวงการคลังญี่ปุ่นว่าสินค้าส่งออกของญี่ปุ่นไปจีนในเดือนตุลาคมลดลงร้อยละ 11.6 เมื่อเทียบกับเดือนตุลาคมของปีที่แล้ว ในขณะที่เดือนกันยายนลดลงร้อยละ 14.1 จิ๋น
ไป่ซ่ง รองหัวหน้าภาควิชาการค้าจีน แห่งสถาบัน Chinese Academy of International Trade and Economic Cooperation แสดงความเห็นว่า “จากข้อพิพาทดินแดนหมู่เกาะเตียวหยู
และการที่ผู้บริโภคชาวจีนต่อต้านสินค้าญี่ปุ่นส่งผลต่อสินค้าส่งออกของญี่ปุ่นอย่างต่อเนื่อง”
ทั้งหมดให้ภาพญี่ปุ่นกำลังเสียหายจากตลาดจีนซึ่งเป็นตลาดส่งออกใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่น
เรื่องที่จีนลดการนำเข้าสินค้าญี่ปุ่นหากพิจารณารายละเอียดจะพบว่าญี่ปุ่นไม่ได้รับผลกระทบมากเท่าไรนักต่างจากที่สื่อบางแห่งนำเสนอ
เมื่อปีที่แล้ว (2011)
ญี่ปุ่นส่งสินค้าออกทั่วโลกคิดเป็นมูลค่าประมาณ 820 พันล้านดอลลาร์ ในจำนวนนี้เป็นการส่งออกไปจีน
161 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.3 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า
และถ้าเรายึดว่าปี 2012 ทั้งปี จีนลดการนำเข้าสินค้าญี่ปุ่นร้อยละ 15 โดยประมาณจากตัวเลขสองเดือนที่ลดลง และยึดฐานตัวเลขส่งออกของปี 2011 คาดการณ์ได้ว่าตลอดปี 2012 สินค้าญี่ปุ่นจะส่งออกไปจีนเหลือ 136.85 พันล้านดอลลาร์ หรือลดลง 24.15
พันล้านดอลลาร์ เมื่อคำนวณต่อมูลค่าสินค้าส่งออกทั่วโลกของญี่ปุ่นจะมีสัดส่วนลดลงเพียงร้อยละ 2.94 เท่านั้น
สรุปในเบื้องต้นว่า
ข้อพิพาทระหว่างจีนกับญี่ปุ่น ส่งผลให้ญี่ปุ่นลดการส่งออกเพียงร้อยละ 2.94
เมื่อเทียบกับปริมาณส่งออกทั้งหมดของญี่ปุ่น
ประเด็นต่อมาคือ
กรณีข้อพิพาทสองประเทศไม่ใช่เหตุผลเดียวที่ทำให้จีนลดการนำเข้าสินค้าญี่ปุ่น
ความจริงแล้วยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่น่าจะกระทบต่อการค้าสองประเทศแต่ถูกละเลยไม่นำมากล่าวถึง
เช่น เศรษฐกิจจีนชะลอตัว ปัญหาหนี้สินของชาติสมาชิกอียู และเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ยังไม่ฟื้นตัวอย่างแข็งแรง
มีข้อมูลชี้ว่าตลาดจีนไม่ใช่ตลาดเดียวที่ญี่ปุ่นส่งออกได้น้อยลง ตัวเลขในเดือนตุลาคม
ชี้ว่าญี่ปุ่นส่งออกไปอียูลดลงร้อยละ 20.1 เมื่อเทียบกับปีก่อน
ดังนั้น เมื่อพิจารณาปัจจัยอื่นๆ ที่กระทบต่อการค้าระหว่างประเทศ
ยิ่งทำให้เห็นว่าเหตุที่จีนลดการนำเข้าจากญี่ปุ่นเพราะข้อพิพาทนั้นมีน้ำหนักลดน้อยลง
ถ้าวิเคราะห์เฉพาะความสัมพันธ์การค้าระหว่างจีนกับญี่ปุ่น
ตลอดเวลาที่ผ่านมา แม้รัฐบาลสองประเทศจะโต้ตอบทางการเมืองไปมา
และกระทบถึงการค้าระหว่างกัน แต่สองประเทศยังคงความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจตามปกติ
ไม่ได้คว่ำบาตรต่ออีกประเทศหนึ่ง การที่คนจีนไม่ซื้อรถญี่ปุ่น
การเดินทางระหว่างสองประเทศที่ลดลง เหตุผลส่วนหนึ่งน่าจะเป็นเรื่องส่วนบุคคลมากกว่า
ที่สำคัญคือรัฐบาลทั้งสองคงไม่อยากให้เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรงในภาวะที่ทั้งคู่ต่างกำลังประคับประคองเศรษฐกิจของตนอยู่
เมื่อมองภาพไปข้างหน้า จิ๋น ไป่ซ่ง แสดงความเห็นในทางบวกว่าการต่อต้านสินค้าญี่ปุ่นในจีนจะดำเนินต่อไปจนถึงกลางปีหน้า
เหตุเนื่องจาก “ญี่ปุ่นกำลังจะจัดเลือกตั้งในเดือนธันวาคมและรัฐบาลจะเริ่มคลายความตึงเครียดในเดือนกุมภาพันธ์หรือมีนาคม”
ในมุมมองที่ต่างไป
แวดวงการเมืองญี่ปุ่นคาดการณ์ว่าอดีตนายกรัฐมนตรี นายชินโซ อาเบะ จากพรรค Liberal
Democratic Party จะได้รับเลือกเป็นนายกฯ
อีกครั้งในการเลือกตั้งครั้งหน้า ความที่นายอาเบะมีประวัติเป็นนายกฯ
สายเหยี่ยวอาจดึงให้สถานการณ์ข้อพิพาทตึงเครียดกว่าเดิมก็เป็นได้
ณ ตอนนี้จึงเร็วเกินไปที่จะสรุปแนวโน้มอนาคต
การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองภายในญี่ปุ่นจะส่งผลกระทบต่อการค้าระหว่างสองประเทศอย่างไรนั้น
ติดตามได้จากนโยบายหาเสียงของนายอาเบะซึ่งจะชัดเจนมากขึ้นในไม่ช้า
ปัจจุบันจีนคือประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับที่สองของโลก
ส่วนญี่ปุ่นเป็นอันดับที่สาม หากยักษ์ใหญ่ทางเศรษฐกิจทั้งสองประเทศสามารถเจรจาได้ข้อตกลงนำสถานการณ์กลับสู่ภาวะปกติจะเป็นข่าวดีแก่เศรษฐกิจโลกไม่มากก็น้อย
23 พฤศจิกายน 2012
ชาญชัย คุ้มปัญญา
---------------------------
บรรณานุกรม:
1. Japan's International Trade in Goods (Yearly). http://www.jetro.go.jp/en/reports/statistics/
2. Japanese exports to China fall amid islands row.
http://www.chinadaily.com.cn/world/2012-11/22/content_15949531.htm