ประเด็นโลก ประเด็นร้อน 3 – 9 ธันวาคม 2012

นายอาเบะผู้หมายมั่นพิชิต Plaza Accord ใกล้ถึงกำหนดวันเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 16 ธันวาคม การหาเสียงระหว่างพรรคการเมืองญี่ปุ่นกำลังเข้มข้น นโยบายทางเศรษฐกิจการเงินที่สำคัญที่สุดและเป็นประเด็นหาเสียงร้อนแรงขณะนี้คือเรื่องการควบคุมภาวะเงินฝืด ปัจจุบันธนาคารญี่ปุ่นวางนโยบายเอาชนะเงินฝืดด้วยการกำหนดเป้าอัตราเงินเฟ้อที่ร้อยละ 1 ต่อปี แต่หนึ่งในตัวเก็งชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนต่อไปนายชินโซ อาเบะ อดีตนายกรัฐมนตรีและประธานพรรค Liberal Democratic Party คนปัจจุบันเห็นว่าไม่เพียงพอ และหวังให้ธนาคารตั้งเป้าเงินเฟ้อที่ร้อยละ 2 ต่อปี
            การประกาศว่าอยากให้ธนาคารกลางญี่ปุ่นตั้งเป้าอัตราเงินเฟ้อที่ร้อยละ 2 ทำนายอาเบะถูกโจมตีว่าแทรกแซงธนาคารกลาง จึงออกมากล่าวแก้ว่า “ผมเห็นว่าความเป็นอิสระของธนาคารกลางเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง” แต่ “เป้าหมายนโยบายควรปรึกษากับรัฐบาล โดยที่ธนาคารกลางญี่ปุ่นยังคงความเป็นอิสระในการดำเนินนโยบายของตน” แม้จะเป็นการกล่าวแก้ในแต่เนื้อหาเหมือนกับว่านายอาเบะยังคงยืนยันหวังให้ธนาคารกลางปรับเป้าอัตราเงินเฟ้อตามที่ตนต้องการ
นอกจากนี้ยังมีกระแสข่าวว่าเนื่องจากประธานธนาคารกลางคนปัจจุบันได้ดำรงตำแหน่งใกล้ครบวาระ 5 ปีในเดือนเมษาปีหน้า หากนายอาเบะชนะการเลือกตั้งเขาอาจใช้อิทธิพลเลือกประธานคนใหม่ที่สอดรับกับนโยบายของเขา ราวกับเป็นการประกาศวางคุณสมบัติของผู้เข้ามาดำรงตำแหน่งประธานธนาคารญี่ปุ่นคนต่อไป
นอกจากแก้ไขภาวะเงินฝืด นายอาเบะยังมุ่งแก้ไขปัญหาเงินเยนแข็งค่าซึ่งเป็นเรื่องที่สอดคล้องกัน
ปัจจุบันธนาคารกลางญี่ปุ่นมีมาตรการผ่อนคลายทางการเงินเพื่อช่วยให้เงินเยนอ่อนค่าลงในระดับหนึ่งอยู่แล้ว แต่นายชินโซ อาเบะเสนอให้ธนาคารกลางญี่ปุ่นใช้มาตรการผ่อนคลายทางการเงิน “แบบไม่จำกัด” เช่น พิมพ์ธนบัตรมาใช้แบบไม่จำกัดหรือเพิ่มมาตรการซื้อสินทรัพย์เพิ่ม
การชูนโยบายให้เกิดอัตราเงินเฟ้อกับการกระตุ้นเศรษฐกิจแบบไม่จำกัด ล้วนส่งผลให้เงินเยนอ่อนค่าลง
นอกจากนี้นายอาเบะยังเสนอนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านงบกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐจำนวน 200 ล้านล้านเยน (หรือราว 2.5 ล้านล้านดอลลาร์) เพื่อสร้างงาน โดยไม่กังวลเรื่องการสร้างหนี้เพิ่มเหมือนรัฐบาลของพรรค Democratic Party of Japan
            โดยรวมแล้วการกลับเข้ามาสู่เวทีเลือกตั้งครั้งนี้ นายอาเบะมาพร้อมกับความกล้าหาญอย่างยิ่ง ตั้งใจใช้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจขนานใหญ่ ประกาศใช้แนวทางผ่อนคลายทางการเงินอย่างไม่จำกัด กำหนดอัตราเงินเฟ้อถึงร้อยละ 2 โดยไม่ห่วงการสร้างหนี้เพิ่มเติม ไม่ห่วงผลกระทบทางลบที่อาจเกิดขึ้นอย่างที่พรรคฝ่ายตรงข้ามโจมตี
            ทั้งหมดคือมุ่งลบล้างผลจาก Plaza Accord และผลกระทบที่ตามมาเป็นลูกโซ่ยังผลทำให้เงินเยนแข็งค่า เศรษฐกิจอยู่ในภาวะเงินฝืดที่ดำเนินมานานราว 20 ปีแล้
Plaza Accord (ข้อตกลงพลาซ่า) เกิดขึ้นในยุคที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นกำลังเฟื่องฟู เงินเยนอ่อนค่า สินค้า MADE IN JAPAN กำลังขายดิบขายดี ชาติตะวันตกหลายประเทศขาดดุลการค้าแก่ญี่ปุ่นจำนวนมหาศาลจึงขู่ว่าหากญี่ปุ่นไม่ปรับค่าเงินเยนให้แข็งค่าขึ้น ชาติตะวันตกจะตอบโต้ด้วยการปกป้องตลาดภายในประเทศ ด้วยความที่นักการเมืองญี่ปุ่นสมัยนั้นเกรงว่าหากถูกตอบโต้จะกระทบต่อสินค้าเกษตร การค้าปลีกและธุรกิจด้านการเงินจึงยอมทำข้อตกลงดังกล่าว
            เมื่อค่าเงินแข็งค่าขึ้นสินค้าญี่ปุ่นเริ่มประสบปัญหาส่งออก เศรษฐกิจถดถอย รัฐบาลขณะนั้นจึงใช้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจขนานใหญ่และกลายเป็นเศรษฐกิจฟองสบู่ตามมา
จากนั้นเพื่อแก้ภาวะเศรษฐกิจฟองสบู่ รัฐบาลจึงขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายและให้ธนาคารตั้งเพดานการกู้ยืมเงิน (งานวิจัยบางชิ้นชี้ว่าเกิดจากการตัดสินใจที่ผิดพลาดของผู้บริหารประเทศในสมัยนั้นด้วย) ส่งผลให้เศรษฐกิจถดถอยและซึมยาวต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ตลาดขาดกำลังซื้อ นักธุรกิจนักลงทุนไม่ต้องการลงทุนเพิ่ม ทุกคนถือเงินสดไว้ในมือ เศรษฐกิจไม่เดิน เกิดภาวะเงินฝืดพร้อมกับเงินเยนที่แข็งค่า
Plaza Accord จึงเหมือนยักษ์ที่ขัดขวางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นไม่ให้เติบโตมานานกว่า 20 ปี ผ่านหลายรัฐบาลหลายนายกฯ แต่ยังแก้ไขไม่ได้ หัวใจนโยบายเศรษฐกิจของนายชินโซ อาเบะ จึงมุ่งกำจัดผลกระทบอันเนื่องจาก Plaza Accord และผลกระทบลูกโซ่ที่ตามมานั่นเอง
หากทุกอย่างเป็นไปตามที่หาเสียงไว้ ภาวะเงินฝืดจะยุติและกลายเป็นเงินเฟื้อที่ระดับร้อยละ 2-3 อัตราการเติบทางเศรษฐกิจหรือจีดีพีอยู่ที่ราวร้อยละ 3 นับว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นกลับมาสู่ภาวะปกติอีกครั้ง และนายชินโซ อาเบะ จะได้รับการจดจำว่าเป็นนายกรัฐมนตรีที่ประสบความสำเร็จทางเศรษฐกิจมากที่สุดในรอบหลายทศวรรษ
            ไม่ว่าผลสุดท้ายจะแก้ได้จริงหรือไม่ จากการที่ตลาดคาดการณ์ว่านายชินโซ อาเบะจะชนะการเลือกตั้ง ธนาคารกลางจะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มอีกทำให้เงินเยนอ่อนค่าและดัชนีตลาดหุ้นนิเคอิของญี่ปุ่นเพิ่มสูงขึ้น เป็นเครื่องชี้วัดว่าตลาดได้ตอบสนองและรับรองในระดับหนึ่งแล้ว
30 พฤศจิกายน 2012
ชาญชัย คุ้มปัญญา
------------------

บรรณานุกรม:
1. Did the Bubble’s Collapse Cause the Lost Decades? World Economic Outlook (WEO), April 2011, http://www.imf.org/external/pubs/ft/weo/2011/01/c1/box1_4.pdf
2. Domestic-Demand-Led Economic Growth: Japan’s Lessons Learned. www.mof.go.jp/pri/international_exchange/kouryu/.../kou96_06.pdf
3. BOJ Governor Defends Easing as Effective. http://professional.wsj.com/article/SB10001424127887324469304578142542023647394.html?mg=reno-wsj
---------------------