10 ตุลาคม 2012
ชาญชัย
หนึ่งในเรื่องสำคัญที่สังคมอเมริกันกำลังให้ความสนใจคือเรื่องการปรับขึ้นภาษีพร้อมกับลดรายจ่าย
ที่เรียกว่า ‘Fiscal Cliff’
Fiscal
Cliff เป็นมรดกทางเศรษฐกิจทางการเมืองจากรัฐบาลอเมริกันชุดก่อนๆ
ประกอบด้วยมาตรการเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐฯ หลายอย่าง เช่น มาตรการลดหย่อนภาษีเงินได้ทั่วไปสำหรับคู่สมรส
มาตรการยกเลิกภาษีมรดก และมาตรการผ่อนปรนภาษีร้อยละ 2 จากรายได้ของผู้ที่มีเงินเดือนประจำ
มาตรการเหล่านี้จะหมดอายุในวันที่ 2 มกราคมปีหน้า เป็นช่วงเวลาเดียวกับเริ่มมาตรการปรับลดงบประมาณจำนวน 100 พันล้านดอลลาร์ต่อปีเพื่อยับยั้งการก่อหนี้ภาครัฐที่กำลังจะเกินเพดานหนี้ที่ 16.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯในปลายปีนี้ (หรือต้นปีหน้า)
การยกเลิกมาตรการลดหย่อนภาษีพร้อมกับตัดลดงบประมาณภาครัฐ
เป็นการเสริมแรงกระทบต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ อย่างรุนแรง มีการคาดการณ์จากหลายแหล่ง
เช่น
สำนักงบประมาณรัฐสภา
(CBO) ประมาณการเมื่อปลายเดือนสิงหาคมว่า ถ้าสหรัฐฯ เผชิญกับปัญหา
Fiscal Cliff จะส่งผลให้ GDP ช่วงครึ่งปีแรก 2013 หดตัวร้อยละ 2.9 และกลับมาขยายตัวในช่วงครึ่งปีหลังราว
1.9 ผลคือ GDP ทั้งปีจะหดตัวร้อยละ
0.5 ขณะที่อัตราว่างงานจะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับร้อยละ 9
(Bloomberg กับ CNBC)
ด้านนายชัด
สโตน หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ Center on Budget and Policy Priorities วิเคราะห์ว่า ในช่วงแรกผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจจะมีน้อย แต่จะค่อยๆ สะสมจนเกิดผลกระทบรุนแรงมหาศาลเมื่อคิดรวมทั้งปี
สำนักงบประมาณรัฐสภาคาดว่าการขาดดุลงบประมาณปี 2012-2013 จะลดลงกว่า 5 แสนล้านดอลลาร์
จะมีสภาพเหมือนกับเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย คนอเมริกันเกือบทุกคนจะต้องจ่ายภาษีเพิ่ม
งานวิจัยหนึ่งคาดว่าจะทำให้เกิดผู้ว่างงานเพิ่มอีก 2.14 ล้านคน
คงไม่มีประธานาธิบดีคนใหม่ท่านใดอยากเผชิญหน้าปัญหานี้
ข่าวดีคือ
มีข่าวว่า ส.ว.ทั้งพรรครีพับลิกันกับเดโมแครตกำลังหาทางออกร่วมเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหา
Fiscal Cliff แม้ว่าวุฒิสมาชิกทั้งสองพรรคยังมีความเห็นแตกต่างกันอย่างชัดเจนต่อรายละเอียดการแก้ปัญหา
ในขณะที่ส.ส.พรรครีพับลิกันยังต่อต้านการแก้ปัญหาด้วยการเพิ่มภาษี (The
New York Times/CNBC)
ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ เบน เบอร์นันเก้ ถึงกับกล่าวว่าหากรัฐสภาสามารถแก้ปัญหานี้
“จะเป็นวิธีการที่เกื้อหนุนเศรษฐกิจในขณะนี้ได้ดีที่สุด” (The New York Times)
ในแง่หนึ่ง ประเด็นจึงอยู่ที่ผู้แทนรัฐสภาของสองพรรคใหญ่จะตัดสินแก้ปัญหาอย่างไร
เมื่อพิจารณานโยบายหาเสียงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีต่อเรื่องนี้
ประธานาธิบดีบารัก โอบามาต้องการหาข้อตกลงเพื่อเลี่ยงปัญหา โดยคุยรายละเอียดหลังเลือกตั้ง
ปธน.โอบามาเสนอแนวทางเพิ่มภาษีกับคนมีฐานะ และแก้ไขอัตราภาษีที่รัฐบาลจอร์จ
ดับเบิ้ลยู. บุชวางไว้
ส่วนนายมิตต์
รอมนีย์ ต้องการยกเลิกกฎระเบียบข้าราชการที่จุกจิก
ลดจำนวนพนักงานลูกจ้างของรัฐบาลกลาง
ในทางทฤษฏีทั้งสองทางคือแนววิธีแก้ปัญหา
แต่ต่างวิธีปฏิบัติเท่านั้น คนหนึ่งเน้นการเพิ่มรายได้ อีกคนเน้นลดรายจ่าย
การเลือกตั้งปธน.จะเป็นตัวชี้ขาด
ผมเชื่อว่า สังคมอเมริกันจะถกเถียงกันวุ่นวายอย่างไร
ที่สุดจะมีทางออกในเวลาที่เหมาะสมเอง แต่กว่าจะถึงวันนั้นคงต้องถกกันอีกหลายยกหลายเวที
ข้อเสนอแนะที่ควรเอามาประกอบคือข้อเสนอแนะจาก IMF ในรายงาน World Economic Outlook (WEO) ฉบับล่าสุดเดือนตุลาคม
ที่เสนอให้รัฐบาลสหรัฐฯ แก้ปัญหาด้วยการเพิ่มเพดานกู้ยืม [รายงาน WEO ดาวโหลดได้ที่ http://www.imf.org/external/pubs/ft/weo/2012/02/index.htm]
ไม่ว่าใครจะชนะเลือกตั้ง วิธีการของ
IMF ปรับเข้าได้กับทั้งสองฝ่าย และนำเสนออย่างทันเวลาก่อนการเลือกตั้ง
ก่อนต้นปีหน้า
ที่สุดแล้ว
ปธน.คนใหม่กับรัฐสภาจะมีทางออกแน่นอน อย่างน้อยให้ปัญหาก้อนโตเลื่อนออกไปอีกสักพักใหญ่ๆ
และดูเหมือนว่า IMF จะเห็นด้วยกับแนวทางนี้
ถ้าจะพูดว่า ‘ชี้โพรงให้กระรอก’ ก็อาจจะเกินไป
--------------