แก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ นโยบายว่าที่ประธานาธิบดีอิหร่านสมัยหน้า
7 ตุลาคม 2012
ชาญชัย
ชาติตะวันตกกำลังจับตาสถานการณ์ภายในประเทศอิหร่าน
หลังจากมีข่าวคนงานราว 1 หมื่นคนประท้วงเหตุเงินเฟ้อพุ่งสูง (WSJ)
ค่าเงินริอัล (Rial) ของอิหร่านลดค่าลงเรื่อยๆ ภายหลังเมื่อประธานาธิบดีบารัก
โอบามาลงนามกฎหมายคว่ำบาตรอิหร่านฉบับใหม่เมื่อวันสิ้นปี 2011 กฎหมายดังกล่าวทำให้การส่งออกน้ำมันของอิหร่านลดลงราวครึ่งหนึ่ง กระทบต่อแหล่งที่มาของรายได้หลักของประเทศ (ปกติรายได้ร้อยละของอิหร่าน 60 มาจากการส่งออกน้ำมันดิบ)
ค่าเงินริอัลที่อ่อนตัวมากทำให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มสูง กระทบต่อราคาสินค้าภายในประเทศอิหร่านอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ราคาสินค้าที่เป็นอาหารหลักหลายอย่างเพิ่มสูงขึ้นมาก
จึงเป็นเหตุเกิดกระแสข่าวว่าประธานาธิบดีมะห์มูด
อะห์มะดีเนจาด ไม่ค่อยเป็นที่นิยมของประชาชน ชาวอิหร่านบางส่วนวิจารณ์ตำหนิว่าเป็นเพราะอิหร่านถูกต่างชาติโดดเดี่ยวจากนโยบายต่างประเทศของท่าน
ปัญหาเศรษฐกิจภายในอาจส่งผลรุนแรงต่อการเลือกตั้งปธน.อิหร่านในกลางเดือนมิถุนายนปีหน้า
อาจได้ปธน.คนใหม่ที่เน้นแก้ปัญหาเศรษฐกิจภายในประเทศ
หากปธน.อิหร่านคนใหม่สามารถแก้อุปสรรคทางเทคนิคต่างๆ เพื่อให้ทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ
(IAEA) สามารถเข้าตรวจสอบโครงการพัฒนานิวเคลียร์อิหร่านและสรุปว่าอิหร่านพัฒนานิวเคลียร์เพื่อสันติจริงๆ
ดังที่อิหร่านอ้างมาตลอดว่าพัฒนาเพื่อการสันติเท่านั้น และกล่าวย้ำอีกครั้งจากผู้นำสูงสุดอิหร่าน
อยาตอลเลาะห์ อาลี คาเมนี ในพิธีเปิดการประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่มประเทศไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด
(NAM) ครั้งที่ 16 เมื่อปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาว่า
“ประเทศอิหร่านไม่ต้องการมีอาวุธนิวเคลียร์ไว้ในครอบครอง” (Xinhua)
สหรัฐฯ
กับพันธมิตรคงไม่มีเหตุอ้างที่จะคว่ำบาตรเศรษฐกิจอิหร่านอีกต่อไป
ส่วนเรื่องจุดยืนของอิหร่านต่ออิสราเอล
อย่างที่ประธานาธิบดีมะห์มูด อะห์มะดีเนจาด ประกาศว่า ‘จะลบอิสราเอลออกจากแผนที่’
ยังถือเป็นประเด็นรอง
นับจากนี้อีกราว 8 เดือนก่อนถึงวันเลือกตั้งปธน. น่าติดตามว่าสภาพเศรษฐกิจภายในอิหร่านจะพัฒนาไปอย่างไร
ส่งผลต่อนโยบายเศรษฐกิจ นโยบายต่างประเทศของว่าที่ปธน.คนใหม่อย่างไร
เป็นโอกาสอันดีหากประเทศอิหร่านจะปรับเปลี่ยนนโยบายในทิศทางที่จะผ่อนคลายความตึงเครียดกับอีกหลายประเทศ