ประเด็นโลก ประเด็นร้อน 29 ตุลาคม – 4 พฤศจิกายน

โรฮิงญา โจทย์ของรัฐบาลเมียนมาร์ที่กำลังปฏิรูปประเทศ
            สัปดาห์ที่ผ่านมาเกิดการปะทะกันระหว่างมุสลิมชาวโรฮิงญา ชาวยะไข่ที่นับถือศาสนาพุทธและเจ้าหน้าที่รัฐอีกรอบ นายอซ็อก นีกัม หัวหน้าเจ้าหน้าที่สหประชาชาติด้านสิทธิมนุษยชนประจำประเทศเมียนมาร์ กล่าวว่า “ล่าสุดมี 22,587คนที่ถูกไล่ที่ บ้านเรือน 4,665 หลังคาถูกทำลาย” ในจำนวนดังกล่าว 21,700 คนเป็นชาวมุสลิม (Al Jazeera)
            สำนักข่าวรอยเตอร์ให้ภาพของความขัดแย้งโดยอ้างแหล่งข่าวจากชาวโรฮิงญาหลายคนว่าพวกตนเป็นฝ่ายถูกกระทำทั้งจากชาวยะไข่กับทหาร บ้านเรือนถูกเผา ถูกประทุษร้ายด้วยมีด ทหารยิงปืนเข้าใส่ หญิงชาวโรฮิงญาวัย 63 ปีคนหนึ่งเล่าว่า “พวกยะไข่ทำร้ายเราด้วยมีด จุดไฟเผาบ้านของเรา พวกเราไม่มีทรัพย์สินอะไร ฉันหนีออกมาพร้อมกับเสื้อผ้าเพียงชุดเดียวที่กำลังใส่อยู่” (Reuters
เหตุการณ์ครั้งนี้รัฐบาลเมียนมาร์ภายใต้การนำของประธานาธิบดีเต็ง เส่ง ไม่อาจทนนิ่งเฉยได้อีก เพราะความสนเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนในเมียนมาร์ไม่จำกัดอยู่ที่บางประเทศ แต่ยามนี้สหประชาชาติ เอ็นจีโอนานาชาติอย่างองค์กรสิทธิมนุษยชน (HRW) องค์กรนิรโทษกรรมสากล (Amnesty International) ได้เข้ามาเกี่ยวข้องแล้ว และสื่อมวลชนนานาชาติเสนอข่าวอย่างต่อเนื่อง
            ผลที่ตามมาแม้จะไม่สั่นคลอนต่อเสถียรภาพทางการเมืองของรัฐบาล ไม่กระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมเท่าไรนัก แต่กระทบต่อภาพลักษณ์ของรัฐบาลที่อยู่ระหว่างการปฏิรูปให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ชาติประชาธิปไตยทั้งหลายที่อยากมีความสัมพันธ์ทางการเมืองทางเศรษฐกิจเมียนมาร์อาจรู้สึกกระอักกระอ่วนใจไม่น้อย
ประธานาธิบดีเต็ง เส่ง เข้าใจสถานการณ์เป็นอย่างดี ได้กล่าวว่า “ในขณะที่นานาชาติจับจ้องการการเปลี่ยนผ่านมาสู่ระบอบประชาธิปไตย ความวุ่นวายอาจทำให้ภาพลักษณ์ของประเทศเสื่อมเสีย” พร้อมกับแสดงบทบาทของรัฐบาลว่า “ทหาร ตำรวจและเจ้าหน้าที่รัฐร่วมกับคนในพื้นที่จะทำงานร่วมกันเพื่อคืนความสงบคืนความปลอดภัย [แก่พื้นที่] และจะใช้กฎหมายดำเนินการต่อทุกคนหรือองค์กรที่พยายามยั่วยุให้เกิดความไม่สงบดังกล่าว” (Al Jazeera)

ทำนองเดียวกับที่องค์กรสิทธิมนุษยชนกับองค์กรนิรโทษกรรมสากลมีแถลงการณ์เรียกร้องรัฐบาลเมียนมาร์เข้ามาดูแลความสงบให้เข้มงวดกว่านี้
การให้สถานการณ์กลับสู่ความสงบเป็นสิ่งดี แต่ไม่เพียงพอ เพราะอาจปะทุขึ้นมาอีกเมื่อไหร่ก็ได้ รัฐบาลเมียนมาร์ที่กำลังแสดงตัวให้ชาวโลกเห็นว่ากำลังมุ่งสู่ความเป็นประชาธิปไตย ประชาชนมีสิทธิ เสรีภาพจะแก้โจทย์เรื่องนี้อย่างไร เป็นเรื่องที่น่าติดตาม
ความตอนหนึ่งของแถลงการณ์ขององค์กรนิรโทษกรรมสากลระบุว่า “เหตุการณ์ล่าสุดระหว่างมุสลิมโรฮิงญากับชาวพุทธแสดงให้เห็นถึงความเร่งด่วนที่ฝ่ายรัฐจะต้องเข้ามาปกป้องทุกคน ทำลายวงจรความรุนแรงและการแบ่งแยกเป็นฝักเป็นฝ่าย” (Irrawaddy)
หากประธานาธิบดีเต็ง เส่ง เลือกที่จะแก้ปัญหาในรูปแบบที่ชาติตะวันตกรับได้ ให้ชาวโรฮิงญาได้อยู่อย่างสงบปลอดภัย ผลดีที่ได้อาจมากกว่าปธน.เต็งเส่งคิดไว้เสียอีก เชื่อว่าแนวทางนี้คือแนวทางที่ชาติตะวันตกจะคอยเอาใจช่วย ในทางกลับกันหากประเด็นปัญหาก่อให้เกิดผู้บาดเจ็บล้มตาย เกิดผู้อพยพมากขึ้นรัฐบาลเมียนมาร์จะถูกกดดันมากขึ้นเช่นกัน
เรื่องนี้จะถูกจับตาดูต่อไป
28 ตุลาคม 2012
ชาญชัย คุ้มปัญญา
-------------------