เลือกตั้งสหรัฐอเมริกา 2012 โอบามาชูประเด็นหนี้สินอเมริกาเรียกคะแนนโค้งสุดท้าย

เหลือเวลาอีกสัปดาห์เศษก่อนวันเลือกตั้ง ประธานาธิบดีบารัก โอบามาชูประเด็นแก้ไขปัญหาหนี้สินประเทศเป็นประเด็นเศรษฐกิจที่สำคัญที่สุดในการหาเสียง ด้วยความเชื่อว่าจะได้คะแนนจากลุ่มคนอิสระที่ไม่ฝักใฝ่พรรคใดพรรคหนึ่ง เป็นคะแนนชี้ขาดว่าใครจะชนะการเลือกตั้งในยามที่ผลโพลล์ระบุว่าประธานาธิบดีโอบามากับนายมิตต์ รอมนีย์มีคะแนนนิยมสูสีกันมาก
ปัญหาหนี้สาธารณะอเมริกากำลังเผชิญกับประเด็นร้อนเฉพาะหน้าที่จะต้องปรับขึ้นภาษีพร้อมกับลดรายจ่ายหรือที่เรียกว่า ‘Fiscal Cliff’ ซึ่งจะเริ่มต้นทันทีโดยอัตโนมัติในวันที่ 2 มกราคม 2556
ที่ผ่านมามีความพยายามแก้ไขปัญหาจากพรรคเดโมแครตกับพรรครีพับลิกันที่เป็นผู้ครองที่นั่งในรัฐสภา แต่ไม่ประสบผลสำเร็จเพราะมีนโยบายแก้ไขคนละทิศคนละทาง ทั้งยังติดนโยบายหาเสียงของผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีทั้งสองพรรค
ประธานาธิบดีโอบามาต้องการแก้ไขด้วยการเพิ่มภาษีคนรวย ส่วนนายมิตต์ รอมนีย์ผู้ชิงตำแหน่งจากพรรครีพับลิกันต้องการปรับลดภาษีแก่ทุกกลุ่มคน เรื่องจึงยังตกลงกันไม่ได้
            ล่าสุดประธานาธิบดีโอบามากลับมารุกในเรื่องดังกล่าวถึงกับเอ่ยปากว่าจะแก้ปัญหาดังกล่าวให้ได้ภายใน 6 เดือนหากได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีอีกสมัย ถือเป็นหนึ่งในนโยบายที่มีเป้าหมายชัดเจน
            ในการนี้ประธานาธิบดีโอบามาจะใช้วิธี ต่อรองครั้งใหญ่ กับพรรครีพับลิกันเพื่อให้สภาผ่านร่างกฎหมายแก้วิกฤตหนี้สินประเทศ โดยให้ทั้งสองพรรคถอยจากจุดยืนของตนคนละก้าวเพื่อได้ทางสายกลางที่ทุกฝ่ายเห็นด้วย
            ประธานาธิบดีโอบามากล่าวถึงการแก้ปัญหาดังกล่าวว่า “เป็นหนึ่งในสิ่งที่ดีที่สุดที่เราสามารถทำเพื่อเศรษฐกิจของประเทศ” และยอมรับว่าการเจรจาต่อรองคงจะวุ่นวาย ไม่ราบรื่น แต่เชื่อว่าที่สุดจะได้จุดสมดุลที่ทุกฝ่ายเห็นชอบ พร้อมกับกล่าวย้ำกับสื่ออีกครั้งเหมือนจะตอกย้ำข้อเสนอที่ยื่นให้กับพรรครีพับลิกันว่าตนพร้อมจะปรับลดภาษีและลดงบประมาณที่ใช้กับระบบประกันสุขภาพที่รัฐบาลกลางต้องแบกภาระค่าใช้จ่ายมหาศาล (ทั้งสองข้อสวนทางกับแนวทางหาเสียงเดิม แต่สอดคล้องกับนโยบายของพรรครีพับลิกัน)
            ที่ผ่านมามีผู้ปฏิเสธไม่เห็นด้วยกับท่าทีปรับลดภาษีของประธานาธิบดีโอบามาแม้กระทั่งคนในพรรคเดโมแครตบางคนก็ไม่เห็นด้วย ส่วนผู้ที่เห็นดีเห็นงามชี้ว่าสิ่งที่ประธานาธิบดีโอบามาต้องการคือให้สองพรรคได้ร่วมมือกันอย่างจริงจังเพื่อสร้างความเข้มแข็งแก่เศรษฐกิจและลดการขาดดุลในระยะยาว
            คาดว่าที่สุดแล้วทั้งสองพรรคต้องนำเรื่องวิกฤตหนี้สินเรื่อง Fiscal Cliff เข้าสู่โต๊ะเจรจาเพื่อหาทางออกเพราะจึงกำหนดเส้นตายหรือจำต้องหาทางออกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้แล้ว และทางออกที่ดีที่สุดหนีไม่พ้นการประนีประนอม ดังนั้นไม่ว่าใครจะขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ สมัยต่อไปย่อมหนีไม่พ้นกับแนวทางนี้ หนีไม่พ้นที่จะต้องตัดสินใจอย่างใดอย่างหนึ่ง
            ดังนั้นการที่ประธานาธิบดีโอบามาจะเรียกคะแนนจากเรื่องดังกล่าวจึงคิดว่ายาก หากมองว่าไม่ว่าใครจะขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีล้วนต้องเผชิญหน้ากับประเด็นนี้ในรูปแบบเดียวกัน
            ขณะนี้ทั่วโลกกำลังจับจ้องการแก้ปัญหาดังกล่าวและกังวลใจไม่แพ้ชาวอเมริกัน เพราะหากไม่สามารถแก้ไขปัญหาในแนวทางที่เหมาะสมจะกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน กระทบต่อความเชื่อมั่นเศรษฐกิจโลก
แนวทางที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เสนอให้รัฐบาลสหรัฐฯ แก้ปัญหาด้วยการเพิ่มเพดานกู้ยืมอาจเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่อยู่ในกระบวนการเจรจา ถือเป็นยาอีกขนานที่จะมาเสริมยาขนานอื่นๆ ของทั้งสองพรรค ทั้งหมดนี้จะช่วยเลื่อนปัญหาก้อนโตออกไปอีกสักพักใหญ่ๆ แต่หุบเหวนั้นยังคงอยู่เว้นแต่เศรษฐกิจภาคการผลิตจริงจะเติบโตอย่างแข็งแกร่งต่อเนื่อง
            ทั้งหมดนี้ฉายภาพอนาคตว่าการแก้ปัญหา Fiscal Cliff คงไม่เกิดขึ้นก่อนกำหนดเส้นตายในต้นเดือนมกราคมปีหน้า จะต้องยืดออกไปอีกระยะหนึ่งจนกว่าได้ประธานาธิบดีสมัยต่อไปและสองพรรคตกลงกันได้
27 ตุลาคม 2012
ชาญชัย คุ้มปัญญา
----------------------