เลือกตั้งสหรัฐอเมริกา 2012 ศึกอภิปรายนโยบายต่างประเทศ

และแล้วการอภิปรายตัวต่อตัวระหว่างประธานาธิบดีบารัก โอบามากับนายมิตต์ รอมนีย์ในรอบสุดท้ายเป็นอันสิ้นสุด ในรอบนี้มีลักษณะเด่นคือมุ่งพูดนโยบายต่างประเทศเป็นหลัก
            ควรทำความเข้าใจก่อนว่า เมื่อพูดถึงนโยบายต่างประเทศต้องถือว่าประธานาธิบดีบารัก โอบามาเป็นฝ่ายได้เปรียบอย่างชัดเจน เพราะตลอดเกือบ 4 ปีที่ดำรงตำแหน่งย่อมได้เรียนรู้ ได้ข้อมูล เข้าใจตื้นลึกหนาบางของเรื่องราวระหว่างประเทศต่างๆ มากกว่านายมิตต์ รอมนีย์ ดังนั้น นายรอมนีย์ต้องระวังในการพูดประเด็นเหล่านี้
            เรื่องต่อมา ชาวอเมริกันส่วนน้อยที่ให้ความสำคัญกับเรื่องเหตุการณ์ระหว่างประเทศ และเป็นที่ทราบกันอยู่แล้วว่าผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งจะให้น้ำหนักน้อยกับนโยบายต่างประเทศ ยกเว้นบางช่วง บางเหตุการณ์ที่มีผลกระทบถึงตัวคนอเมริกันอย่างรุนแรง เช่น กรณีเหตุก่อวินาศกรรม 9/11 น้ำมันจากตะวันออกกลาง และชาวอเมริกันสูญเสียตำแหน่งงานให้กับคนจีน
            จากสองเรื่องข้างต้น เมื่อพูดถึงนโยบายต่างประเทศ นายมิตต์ รอมนีย์จะเลือกพูดเฉพาะประเด็นที่คาดว่าจะได้คะแนนจากชาวอเมริกัน กับประเด็นที่สามารถบั่นทอนความนิยมที่มีต่อตัวปธน.โอบามา ทั้งหมดนี้อยู่ภายใต้ยุทธศาสตร์ของนายรอมนีย์ที่มุ่งเป้าโจมตีว่าประธานาธิบดีบารัก โอบามาเป็นผู้นำประเทศที่อ่อนแอเกินไป ซึ่งจะตีความต่อว่าทำให้สหรัฐอเมริกาอ่อนแอ สูญเสียผลประโยชน์ เสื่อมเสียเกียรติภูมิแห่งชาติที่คนอเมริกันจำนวนไม่น้อยภาคภูมิใจ ในหลายโอกาสเมื่อนายรอมนีย์พูดเรื่องเหล่านี้จะแสดงท่าทางขึงขังดุดัน

จึงไม่แปลกใจว่าประเด็นที่ถูกหยิบยกขึ้นมาอภิปรายกันมากๆ คือสถานการณ์ในตะวันออกกลาง (รวมลิเบีย) กับจีน โดยหยิบยกประเด็นการเผาโจมตีสถานกงสุลสหรัฐฯ ประจำเมืองเบงกาซี ประเทศลิเบีย ที่ทำให้เอกอัครราชทูตรวมทั้งเจ้าหน้าที่อีก 3 คนเสียชีวิตในที่เกิดเหตุ กรณีความวุ่นวายในประเทศซีเรียที่ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลพยายามโค่นล้มระบอบของประธานาธิบดีบาชาร์ อัล อัสซาด โครงการพัฒนานิวเคลียร์ของอิหร่าน และกล่าวหาว่าจีนใช้นโยบายเอาเปรียบทางการค้าต่อสหรัฐฯ
            ประเด็นที่หยิบยกขึ้นมาล้วนเป็นประเด็นเด่นที่อยู่ในสื่อกระแสหลักของอเมริกามาอย่างต่อเนื่อง แต่ละประเด็นมีจุดเด่นในตัว เช่น เอกอัครราชทูตกับเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ เสียชีวิตด้วยฝีมือผู้ก่อการร้าย (นำประเด็นผู้ก่อการร้ายขึ้นมาพูด โยงถึงอดีตเหตุการณ์ 9/11) ความกลัวที่อิหร่านจะมีอาวุธนิวเคลียร์เป็นภัยคุกคามต่อสหรัฐฯ (เรื่องนี้พูดมาเป็นสิบปีแล้ว) จีนที่เติบใหญ่ทางเศรษฐกิจทางการเมืองระหว่างประเทศสวนทางกับสหรัฐฯ ที่เศรษฐกิจยังอ่อนแอ (ความกลัวว่าจีนคือภัยคุกคามที่สำคัญที่สุดในอนาคต) และจะสังเกตได้ชัดเจนว่านายรอมนีย์พยายามพูดโจมตีว่าปธน.โอบามาดำเนินนโยบายอย่างอ่อนแอเกินไปในทุกประเด็นดังกล่าว
            แต่ภายใต้การอภิปรายทั้งหมด นโยบายต่างประเทศของนายมิตต์ รอมนีย์ แตกต่างจากนโยบายปัจจุบันของปธน.โอบามาเพียงเฉพาะเรื่องการให้น้ำหนักในการดำเนินนโยบายเท่านั้น แต่สาระสำคัญไม่ได้แตกต่างออกไป
            ยกตัวอย่าง กรณีการก่อการร้ายนายรอมนีย์ย้ำการจัดการกับพวกหัวรุนแรง ไม่ต่างจากปธน.โอบามาที่พยายามพูดว่ามุสลิมส่วนใหญ่ไม่เกี่ยวข้องและจะหาตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษให้จงได้
            กรณีซีเรีย ทั้งคู่มีนโยบายสนับสนุนการล้มล้างระบอบของประธานาธิบดีบาชาร์ อัล อัสซาด เพียงแต่นายรอมนีย์เห็นว่าควรให้อาวุธหนักแก่ฝ่ายต่อต้าน ส่วนรัฐบาลโอบามาเท่าที่ผ่านมาพูดเพียงว่าให้การสนับสนุนในส่วนที่ไม่ใช่อาวุธ แต่ทั้งสองไม่ต้องการส่งทหารอเมริกันเข้าไปรบในประเทศซีเรีย

            ในภาพรวม ปธน.โอบามา กล่าวตั้งแต่เริ่มอภิปรายว่าในฐานะที่เป็นผู้บัญชาการสูงสุดของประเทศ (Commander-in-Chief) ตนมีหน้าที่หลักคือทำให้ชาวอเมริกันทุกคนปลอดภัย ส่วนนายมิตต์ รอมนีย์ กล่าวในตอนท้ายของการอภิปรายว่าเป้าหมายหลักคือให้ประเทศมีสันติสุข สร้างโลกที่มีสันติภาพ และทั้งคู่ต้องการสร้างชาติอเมริกาให้เข้มแข็ง (วีดีโอการอภิปรายฉบับเต็มของ wptv.com)
            นั่นคือบทสรุปของนโยบายต่างประเทศของทั้งคู่
นอกเหนือจากการอภิปรายนโยบายต่างประเทศที่เป็นหัวข้อหลัก ในการอภิปรายทั้งคู่ได้หวนกลับมาพูดประเด็นเศรษฐกิจในประเทศหลายเรื่อง กลับมาโต้แย้งวิธีแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ แสดงให้เห็นว่าที่สุดแล้วประเด็นเศรษฐกิจ เรื่องปากท้องยังเป็นหัวใจเป็นแก่นสารของทุกนโยบายทุกเป้าหมาย
ขอทิ้งท้ายอีกนิดว่า ผมเห็นด้วยกับนาย จอส บาร์โร (Josh Barro) ที่เห็นว่าปัญหาของการอภิปรายรอบนี้คื ในหมวดนโยบายต่างประเทศยังมีอีกหลายเรื่องที่ไม่ได้เอ่ยถึง เช่น สถานการณ์ในยุโรป แอฟริกา ประเด็นคนย้ายถิ่น ยาเสพติด ประเด็นปัญหาสุขภาพระดับโลก ภาวะโลกร้อน และระบบการเงินระหว่างประเทศ (Bloomberg)
            ตามหลักความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เรื่องเหล่านี้มีความสำคัญ บางเรื่องมีผลกระทบไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าเรื่องอื่นๆ ที่อภิปรายรอบนี้หรืออาจมากกว่าด้วยซ้ำ เพียงแต่พูดแล้วอาจไม่ช่วยให้ได้คะแนนเพิ่ม
23 ตุลาคม 2012
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ดูวีดีโอการอภิปรายฉบับเต็ม ที่ http://www.wptv.com/dpp/news/national/obama-romney-debate-full-video-watch-complete-youtube-video-of-third-presidential-debate-in-boca)
-----------------------