เลือกตั้งสหรัฐอเมริกา 2012 ความผิดพลาดทั้งหมด รมต. คลินตันขอรับไว้แต่เพียงผู้เดียว

16 ตุลาคม 2012
ชาญชัย
จากเหตุเผาสถานกงสุลสหรัฐอเมริกา ประจำเมืองเบงกาซี เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ นายคริสโตเฟอร์ สตีเว่นส์ พร้อมกับเจ้าหน้าที่ชาวอเมริกันอีก 3 คนเสียชีวิตในบริเวณสถานกงสุล ในตอนแรกประธานาธิบดีบารัก โอบามากับรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศ ฮิลลารี คลินตัน กล่าวเชื่อมโยงเหตุดังกล่าวกับเหตุมุสลิมประท้วงภาพยนตร์ลบหลู่ศาสนาที่เกิดขึ้นพร้อมๆ กัน
แต่เรื่องกลับไม่ถูกต้อง เมื่อเจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ให้การต่อกรรมาธิการรัฐสภาว่า กระทรวงการต่างประเทศไม่เคยสรุปว่าการโจมตีเผาสถานกงสุลสหรัฐฯ ที่ลิเบียเกิดจากภาพยนตร์ลบหลู่ศาสนา และสถานกงสุลเป็นเป้าต่อการโจมตีมานานแล้ว (AP)
อีกทั้งก่อนเกิดเหตุเจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศได้แจ้งให้ทำเนียบขาวเพื่อขอเพิ่มระบบรักษาความปลอดภัยแก่สถานกงสุล แต่ได้รับการปฏิเสธ

ล่าสุด รมต.ฮิลลารี คลินตัน กล่าวแสดงความรับผิดชอบว่า “ดิฉันเป็นผู้รับผิดชอบ ดิฉันบริหารกระทรวงการต่างประเทศที่มีเจ้าหน้าที่กว่า 6 หมื่นคนในสถานที่ต่างๆ ทั่วโลก 275 แห่ง ท่านประธานาธิบดีกับรองปธน.ไม่รับรู้การตัดสินใจใดๆ ที่ดำเนินการโดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง” (CNN)
รมต.คลินตันกล่าวตรงไปตรงมาว่า เหตุที่ออกมากล่าวยอมรับเพราะ “ดิฉันต้องการหลีกเลี่ยงการกล่าวโทษทางการเมือง ... เรากำลังใกล้เลือกตั้ง
            ดังนั้น ที่ปรากฏชัดเจนตรงไปตรงมา คือ รมต.คลินตันไม่ต้องการให้นำเรื่องนี้เป็นประเด็นการเมือง บ่อนทำลายคะแนนเสียงของปธน.โอบามา เบื้องต้นเป็นกลยุทธ์ หยุดเรื่องไว้ที่ตรงนี้คงเพราะประเมินว่าการแสดงออกเช่นนี้ดีกว่าที่จะให้ฝ่ายพรรครีพับลิกันนำเรื่องนี้ไปพูดโจมตีเรื่อยๆ อย่างไม่รู้จบ และอาจขยายผลบั่นทอนเรื่องอื่นๆ เช่น ปธน.โอบามาพูดเท็จ ไม่น่าเชื่อถือ
            เป็นกลยุทธ์ต้านการหาเสียงแบบทำลายคะแนน (Negative Campaign) ของฝ่ายตรงข้าม
            หรืออยู่ในภาวะที่ความจริงผูกมัดจนดิ้นไม่หลุดแล้ว
            ฝ่ายที่สนับสนุนนายมิตต์ รอมนีย์อาจเห็นว่า แก้ตัวอย่างไรก็ฟังไม่ขึ้นหรือยิ่งแก้ตัวก็ยิ่งแย่ และทำไมก่อนหน้านี้ปธน.โอบามาไม่แก้ไขความเข้าใจผิด หากไม่มีการสอบสวนจากกรรมาธิการรัฐสภา คนอเมริกันจะยังปักใจเชื่ออย่างผิดๆ ต่อไป ใช่หรือไม่
            มุมมองต่อการออกมายอมรับผิดของรมต.ฮิลลารี คลินตันจึงมีหลากหลายแบบ
            ถ้าวิเคราะห์แบบเชิงลึก ฝ่ายปธน.โอบามาอาจใช้กลยุทธ์นี้เพื่อเรียกร้องความเห็นใจจากผู้สนับสนุน เพราะหากวิเคราะห์ถึงที่สุด ผู้เป็นปธน.ย่อมต้องรับผิดชอบแน่นอน แต่ความรับผิดชอบไม่ถึงกับต้องลาออกจากตำแหน่ง (กฎหมายไม่ได้บัญญัติเช่นนั้นด้วย) หรือเป็นเหตุต้องพ่ายแพ้การเลือกตั้งอย่างที่พรรคคู่แข่งต้องการ ดังนั้น หากนายมิตต์ รอมนีย์นำเรื่องนี้มาโจมตีอย่างไม่จบไม่สิ้น ประชาชนที่ศรัทธาปธน.โอบามาอาจเห็นใจท่านมากขึ้น และเห็นว่าฝ่ายตรงข้ามโจมตีทางการเมืองเกินขอบเขต

            ผมคาดเดาว่าเราอาจเห็นปธน.โอบามาเรียกคะแนนสงสารผ่านการอภิปรายระหว่างปธน.โอบามากับนายรอมนีย์ ในสัปดาห์นี้ ด้วยวิธีการใดวิธีการหนึ่ง เช่น กล่าวขอโทษ ยอมรับความผิดพลาดบางส่วน
          เป็นภาคต่อจากรมต. คลินตันที่ขอรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว
            ไม่ว่าผลจะเป็นอย่างไร ปธน.โอบามาจะเสียคะแนนหรือได้คะแนนสงสาร เป็นเรื่องที่ต้องติดตามต่อไป และเชื่อว่าทั้งสองพรรคจะปรับกลยุทธ์เพื่อให้ได้ประโยชน์จากเรื่องนี้ ทั้งสองฝ่ายจะพยายามหาช่องเพื่อให้ตนได้คะแนนหรือตัดคะแนนอีกฝ่าย
            ประเด็นที่ควรจะทิ้งท้ายไว้ คือเรื่องนี้เป็นอีกกรณีตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่า คำตอบของรัฐบาลสหรัฐฯ หรือสิ่งที่นำเสนอผ่านสื่ออาจไม่ตรงข้อเท็จจริง หากไม่อยู่ในช่วงการหาเสียงเลือกตั้งปธน. อาจไม่มีการขุดคุ้ยการเรียกร้องหาความจริงอย่างทันท่วงที ความจริงจึงถูกบิดเบือน หรือความจริงกลายเป็นเพียงอีกข่าวลือที่ลือๆ กันไป
--------------------