เลือกตั้งสหรัฐอเมริกา 2012 ศึกษาอภิปรายรองปธน.กับผู้ท้าชิง ควรค่าสมราคา

12 ตุลาคม 2012
ชาญชัย
            การบริหารประเทศตามระบอบประชาธิปไตยแบบสหรัฐอเมริกานั้นให้ความสำคัญกับบุคคลที่เป็นประธานาธิบดีมากจริงๆ เพราะยึดว่าปธน.คือหัวหน้าฝ่ายบริหาร เป็นหัวใจของประเทศในทุกนโยบาย รัฐมนตรีกระทรวงต่างๆ ถือว่าเป็นเหมือนเลขาช่วยงานเท่านั้น
            ทำนองเดียวกับตำแหน่งรองประธานาธิบดีที่ยามปกติจะไม่มีบทบาทสำคัญ เพราะไม่มีอำนาจตัดสินใจตามกฎหมายอย่างเช่นปธน. ยกเว้นยามที่ประเทศอยู่ในภาวะไม่ปกติ จึงทำให้ผู้คนไม่ค่อยสนใจกับผู้ดำรงตำแหน่งนี้มากนัก
            เมื่อพูดเฉพาะเจาะจงเรื่องการเลือกตั้งชิงตำแหน่งประธานาธิบดี ตำแหน่งรองปธน.อยู่ในฐานะเป็นผู้ช่วยหาเสียง หรือเสริมบทบาทของตำแหน่งปธน.เป็นหลัก นโยบายที่หาเสียงย่อมขึ้นกับสิ่งที่ปธน.หรือผู้ท้าชิงตำแหน่งนี้ ทำให้หลายคนไม่เห็นความสำคัญของการอภิปรายระหว่างรองปธน.กับคู่แข่งขัน
            แต่การอภิปรายครั้งนี้แตกต่างออกไป ทั้งรองประธานาธิบดีโจ ไบเดน กับนายพอล ไรอัน คู่แข่งพรรครีพับลิกัน ต่างทำหน้าที่ได้สมราคาหรือเกินว่าที่คาด แม้ทั้งคู่ต่างต้องพูดบนจุดยืนของปธน.บารัก โอบามากับนายมิตต์ รอมนีย์

การอภิปรายเปิดฉากด้วยประเด็นร้อน กรณีสถานกงสุลสหรัฐฯ เมืองเบงกาซีถูกเผาโจมตี เอกอัครราชทูตเสียชีวิตในที่เกิดเหตุ นายพอล ไรอันยกความคืบหน้าล่าสุดที่เจ้าหน้าที่กระทรวงต่างประเทศชี้แจงว่าเหตุไม่เกี่ยวข้องกับกรณีภาพยนตร์ลบหลู่ศาสนาที่ปธน.โอบามาอ้างว่าเป็นสาเหตุที่มา รองปธน.ไบเดนโต้กลับว่าพรรครีพับลิกันมีนโยบายตัดลดงบประมาณความมั่นคงของทูตลง 300 ล้านดอลลาร์
สังเกตว่าทั้งคู่ทำการบ้าน เตรียมคำตอบคำแก้มาก่อนแล้ว
ประเด็นถัดมาคือโครงการพัฒนานิวเคลียร์ของอิหร่าน นายไรอันโจมตีว่าปธน.โอบามาไม่ใช้มาตรการคว่ำบาตรต่ออิหร่านอย่างรุนแรงที่สุด เป็นการตอกย้ำแนวทางหาเสียงว่าปธน.โอบามาเป็นผู้นำที่อ่อนแอ และยอมผ่อนผันให้บางประเทศร่วมไม่ใช้มาตรการอย่างเต็มที่ ด้านรองปธน.ไบเดนโต้กลับว่า ขณะนี้เป็นช่วงที่สหรัฐฯ คว่ำบาตรอิหร่านมากที่สุดทั้งแต่ที่เกิดเรื่อง
แต่ทั้งสองฝ่ายมีเป้าหมายสุดท้ายเหมือนกันคือ ไม่ยอมให้อิหร่านมีอาวุธนิวเคลียร์ ทั้งคู่ต้องการป้องกันไม่ให้เกิดสงคราม ต่างเพียงวิธีปฏิบัติกับการให้น้ำหนักเท่านั้น
จากนั้นขยับมาเรื่องเศรษฐกิจ รองปธน.ไบเดนโจมตีเรื่องที่นายมิตต์ รอมนีย์กล่าวว่าคนอเมริกันร้อยละ 47 ไม่เสียภาษีแก่รัฐบาลกลาง [ภาษีเงินได้] ว่าเป็นผู้ที่ขาดความรับผิดชอบต่อประเทศ รองปธน.ไบเดนบอกว่าคนเหล่านี้คือคนอายุรุ่นพ่อรุ่นแม่ที่เคยเสียภาษีตลอดชีวิตทำงาน นายไรอันพยายามแก้เรื่องนี้โดยพูดว่านายรอมนีย์เคยมอบรายได้ร้อยละ 30 ให้กับการกุศล “มิตต์ รอมนีย์เป็นคนดี เขาห่วงใยคนอเมริกันทุกคน” (WSJ)
นักวิเคราะห์บางคนเห็นว่าจุดที่นายไรอันพลาดคือการพูดว่า “ผมคิดว่ารองปธน.รู้ว่าบางครั้งคำพูดไม่ได้ออกจากปากของเราอย่างถูกต้อง” พูดง่ายๆ ก็คือปากกับใจไม่ตรงกัน รองปธน.ไบเดนจึงฉวยโอกาสสวนกลับว่า “แต่ผมมักจะคิดอย่างไรก็พูดอย่างนั้น” (WSJ/AP)
กลายเป็นว่าฝ่ายหนึ่งปากกับใจตรงกัน ส่วนอีกฝ่ายปากกับใจไม่ตรงกัน
การอภิปรายได้ถกอีกหลายประเด็น ประเด็นที่น่าสนใจอื่นๆ เช่น ประเด็นการทำแท้ง
เหตุที่น่าสนใจคือทั้งคู่ต่างเป็นคาทอลิก แต่มีมุมมองต่อการทำแท้งต่างกัน
นายไรอันจากพรรครีพับลิกันมีนโยบายไม่สนับสนุนการทำแท้ง หรือที่เรียกว่า ‘pro-life’ ด้วยเหตุจากความเชื่อทางศาสนาว่าเป็นคาทอลิก แต่เสริมว่าเป็นเรื่องของเหตุผล (reason) กับวิทยาศาสตร์ด้วย (science) และพูดจุดยืนชัดเจนว่า ชีวิตเริ่มต้นเมื่อเกิดการปฏิสนธิ [สเปิร์มกับไข่ผสมกัน] จึงมีนโยบายต่อต้านการทำแท้ง ยกเว้นกรณีถูกข่มขืน การล่วงประเวณีกับคนที่มีเชื้อสายใกล้ชิดมาก [เช่นพ่อกับลูก] หรือเสี่ยงต่อชีวิตของหญิงตั้งครรภ์
รองปธน.ไบเดน ตอบว่าตนเคารพจุดยืนของโบสถ์คาทอลิกและมีจุดยืนว่าชีวิตเริ่มต้นเมื่อเกิดการปฏิสนธิ แต่ที่สุดแล้วเป็นการตัดสินใจระหว่างหญิงมีครรภ์กับแพทย์ นายไรอันจึงโจมตีว่าไม่ยึดมั่นในหลักศาสนา
            ผมเชื่อว่านายไรอันเดาทางคำตอบของรองปธน.ไบเดนไว้ก่อนแล้ว
ในตอนท้ายของการอภิปรายทั้งคู่พูดสรุปเหมือนคู่ชิงตำแหน่งประธานาธิบดี นายพอลไร อัน พยายามโจมตีปธน.โอบามาว่าล้มเหลวในการทำตามสัญญาที่หาเสียงเมื่อ 4 ปีก่อนหลายเรื่อง เช่นเรื่องคนว่างงาน เศรษฐกิจตกต่ำ ชาวอเมริกันต้องพึ่งพารัฐบาลกลางมากขึ้น ส่วนรองปธน.โจ ไบเดน แก้ว่าปธน.โอบามาเข้ามารับตำแหน่งในสภาพที่ประเทศกำลังแย่ เพื่อชี้ว่าปธน.โอบามาได้ทำอย่างดีที่สุดแล้ว และเท่ากลับโทษว่ารัฐบาลที่แล้วซึ่งหมายถึงคู่แข่งจากพรรครีพับลิกันเป็นผู้ทำให้ประเทศเสียหาย
โดยภาพรวมรองปธน.ไบเดนพูดรายละเอียดในแต่ละนโยบายอย่างมั่นใจ อย่างใจเย็น สลับกับการโต้กลับอย่างรุนแรง
ส่วนนายไรอัน พูดได้ชัดถ้อยชัดคำ ไม่มีอาการประหม่าแม้แต่เล็กน้อย
ต่างฝ่ายต่างหยิบยกจุดที่อีกฝ่ายจะเสียคะแนนขึ้นมาพูด และต่างฝ่ายได้เตรียมคำตอบแก้ไว้ก่อนแล้ว
เป็นยุทธศาสตร์มุ่งทำลายคะแนนของอีกฝ่าย มากกว่ามุ่งสร้างคะแนนของตน ทั้งคู่เลือกใช้ยุทธศาสตร์ดังกล่าวกับโอกาสเช่นนี้
ในแง่หนึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่ชาวอเมริกันคาดเดาอยู่ก่อนแล้ว ในอีกแง่ถือว่าต่างได้พูดในเรื่องที่คนอเมริกัน พวกกองเชียร์อยากให้พูด
ข้อสำคัญคือ ทั้งสองพรรคได้แสดงนโยบายแต่ละเรื่องอย่างชัดเจน เป็นสัญญาประชาคมที่พลเมืองชาวอเมริกันรู้และเข้าใจ ตัดสินใจลงคะแนนอย่างรู้ผลดีผลเสีย ข้อดีข้อด้อยของแต่ละฝ่าย จะคาดหวังและตรวจสอบการทำงานของประธานาธิบดีคนต่อไป

(อ่านถ้อยคำอภิปรายฉบับเต็มและดูวีดีโอได้ที่ http://www.washingtonpost.com/politics/decision2012/2012-vice-presidential-debate-vice-president-biden-and-rep-paul-ryans-remarks-in-danville-ky-on-oct11-running-transcript/2012/10/11/a5167f1e-13cd-11e2-ba83-a7a396e6b2a7_story.html)
-------------------------------


โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

อุดมการณ์ทางการเมือง (1) นิยาม อุดมการณ์ทางการเมือง

อุดมการณ์ทางการเมือง (2) อุดมการณ์เสรีนิยม

กำเนิด “รัฐสมัยใหม่” ตัวแสดงเอกของโลก