ระบบ ‘winner-take-all’ ในตอนที่แล้วได้กล่าวถึงตัวละครสำคัญของการเลือกตั้งประธานาธิบดีกับรองประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาว่าขึ้นอยู่กับบุคคลที่มีฐานะเป็น
Elector (คณะผู้เลือกตั้ง) คนเหล่านี้เป็นผู้ลงคะแนนเลือกปธน.อย่างแท้จริง
ในตอนนี้จะศึกษาให้เข้าใจหลักการหรือระบบที่มีผลต่อการลงคะแนนเลือกของ
Elector เหล่านี้นั่นคือ หลักคิดหรือระบบที่เรียกว่า ‘winner-take-all’
แนวคิดของ
‘winner-take-all’ เกิดจากการมองรัฐ (state) เหมือนรัฐ-ประเทศ (State) หนึ่งที่ต้องมีผู้ปกครองหนึ่งเดียวเพื่อการบริหารจัดการที่มีเอกภาพ (ทำนองเดียวกับประเทศมีประธานาธิบดีเพียงคนเดียวและมีอำนาจบริหารประเทศสูงสุด)
ดังนั้น ในแต่ละรัฐ เมื่อได้ผู้สมัครที่ได้คะแนน popular vote สูงสุด Electors ทุกคนของรัฐนั้นจะเทคะแนนเลือกผู้สมัครคนนั้นๆ
เพียงคนเดียว เป็นลักษณะที่เรียกกว่า ‘winner-take-all’
ยกเว้นสองรัฐ คือ รัฐเมนกับเนบรัสกาที่ไม่ใช้หลักการนี้
อธิบายง่ายๆ ว่า รัฐใดที่ผู้สมัครได้คะแนน popular vote ประจำรัฐนั้นสูงสุด จะได้คะแนน electoral votes ทั้งหมดของรัฐนั้นๆ
หรืออีกนัยหนึ่งคือ 1 รัฐคือ 1 เขตเลือกตั้งที่มีผู้ชนะการเลือกตั้งเพียงคนเดียว (พรรคเดียว)
ภายใต้ระบบการเลือกตั้งตำแหน่งประธานาธิบดีกับรองประธานาธิบดีปัจจุบัน
ผลการเลือกตั้งจะมีคะแนนรวม 2 อย่าง คือ
คะแนนรวมที่ประชาชนเลือกผู้สมัคร (popular votes) กับคะแนนรวมของ
Electors
แต่การตัดสินว่าผู้สมัครคนใดจะชนะการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีกับรองประธานาธิบดีขึ้นกับคะแนนรวมของ
Electors เท่านั้น
ดังนั้น
ผู้สมัครที่ได้คะแนน popular votes
ทั้งประเทศสูงสุดอาจไม่ใช่ผู้ชนะการเลือกตั้ง
ในประวัติศาสตร์การเลือกประธานาธิบดีสหรัฐฯ
เคยมีเรื่องเช่นนี้เกิดขึ้นแล้วหลายครั้ง เช่นกรณีประธานาธิบดี Abraham
Lincoln, Woodrow Wilson, Harry Truman, John F. Kennedy, Richard Nixon (ในปี 1968), Bill Clinton, and George W. Bush (ในปี
2000) ปธน.เหล่านี้ชนะการเลือกตั้งด้วยคะแนน popular votes ต่ำกว่าคู่แข่ง
ทั้งหมดนี้เป็นผลจาก
elector votes กับระบบ ‘winner-take-all’
ควรยึดคะแนน elector votes หรือ popular votes
ระบบการเลือกตั้งผ่าน Elector College
กับการยึดหลัก ‘winner-take-all’ มีทั้งข้อดีข้อเสีย สังคมอเมริกันยังถกเถียงกันอยู่ ทุกวันนี้ผู้สมัครมีแนวโน้มมุ่งหาคะแนน elector
votes เป็นหลัก
ฝ่ายที่เห็นว่าควรยึด
popular votes ให้เหตุผลว่า
1 Popular
votes สะท้อนความต้องการของประชาชนโดยตรง
ดังที่ได้กล่าวแล้วว่าเมื่ออเมริกาเริ่มก่อตั้งประเทศ
เริ่มต้นใช้การปกครองระบอบประชาธิปไตย
กลุ่มผู้ก่อตั้งกังวลต่อการตัดสินใจของผู้มีสิทธิเลือกตั้งว่าจะลงคะแนนอย่างมีความเข้าใจมีเหตุผลหรือไม่
จึงวางระบบ Elector College ขึ้นมากลั่นกรองผลการลงคะแนนของประชาชนอีกทอดหนึ่ง
และจนถึงบัดนี้ระบบการเลือกตั้งเช่นนี้ยังดำรงอยู่เรื่อยมา
เมื่อกาลเวลาผ่านไป
บางคนเห็นว่าระบบการเลือกตั้งปธน.ควรเปลี่ยนจากระบบปัจจุบันเป็นการเลือกผ่านคะแนนเสียงของประชาชน (popular votes) โดยตรงจะดีกว่าเพราะคือมติของประชาชนผู้เป็นเจ้าของประเทศโดยตรง
2 การยึดคะแนน elector votes ทำให้ผู้สมัครมุ่งหาเสียงกับบางรัฐเท่านั้น
ตามระบบการเลือกตั้งปัจจุบัน
ผู้สมัครจะลดความสำคัญต่อรัฐที่ตนคิดว่าจะชนะแน่หรือแพ้แน่ และจะทุ่มเททรัพยากรไปกับรัฐที่มีความสำคัญต่อผลรวม
electoral votes กับรัฐที่ผู้สมัครมีโอกาสก้ำกึ่งว่าตนอาจจะแพ้หรือชนะในรัฐนั้น
เป็นประเด็นยุทธศาสตร์การเลือกตั้งที่ผู้สมัครจะต้องวางยุทธศาสตร์การเลือกตั้งให้สอดคล้องต่อระบบการเลือกตั้ง
โดยไม่สนใจว่าได้ให้ความใส่ใจกับทุกรัฐโดยเท่าเทียมหรือไม่
บางครั้งถึงกับออกนโยบายเพื่อตอบสนองบางมลรัฐโดยตรง ละเลยภาพรวมทั้งประเทศ
หรือเท่ากับละเลย popular votes นั่นเอง
ฝ่ายที่เห็นว่ายังควรยึด
electoral votes ให้เหตุผลว่า หากยึด
popular votes
จะทำให้ผู้สมัครละเลยเสียงของฝ่ายข้างน้อย นั่นคือ ผู้สมัครจะมุ่งให้ความสำคัญกับชนกลุ่มใหญ่ ละเลยความต้องการเฉพาะของฝ่ายข้างน้อย ทำให้ประชาชนที่เป็นฝ่ายข้างน้อยหรือชนกลุ่มน้อยเสียประโยชน์เมื่อนโยบายผู้สมัครมุ่งตอบสนองความต้องการของคนกลุ่มใหญ่
ข้อนี้เป็นไปตามหลักการประชาธิปไตยที่ว่าแม้จะใช้คะแนนเสียงข้างมากเป็นตัวตัดสิน
แต่ต้องไม่ละเลยความต้องการของเสียงข้างน้อย ต้องคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของเสียงข้างน้อย
เพราะเขาเป็นหนึ่งในผู้มีสิทธิ เสรีภาพที่จำต้องได้รับการปกป้องไม่ต่างจากคนอื่นๆ
ข้อสรุปคือ ทั้งสองแนวทางต่างมีโอกาสทำให้คนอเมริกันไม่ได้รับความเท่าเทียม
ถ้ายึด popular votes จะทำให้ละเลยเสียงข้างน้อย ถ้ายึด electoral
votes จะละเลยบางรัฐ
จนถึงทุกวันนี้
ระบบการเลือกตั้งประธานาธิบดีกับรองประธานาธิบดีสหรัฐฯ
ยังคงเป็นระบบเดิมตั้งแต่ก่อตั้งประเทศ ประเด็นถกเถียงยังคงถกเถียงกันต่อไป แต่หากต้องการเปลี่ยนแปลงระบบการเลือกตั้งอาจต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ
31 ตุลาคม 2012
(ปรับปรุง 9 พฤศจิกายน 2012)
(ปรับปรุง 9 พฤศจิกายน 2012)
ชาญชัย คุ้มปัญญา
---------------------------------
บรรณานุกรม:
1. The Pro's and Con's of the Electoral College System. http://uselectionatlas.org/INFORMATION/INFORMATION/electcollege_procon.php
2. Arguments for and against the electoral college. http://www.britannica.com/EBchecked/topic/182341/electoral-college/215038/Arguments-for-and-against-the-electoral-college
3. Electoral Systems. http://www9.georgetown.edu/faculty/kingch/Electoral_Systems.htm