จากเผาสถานกงสุลสหรัฐฯ จนถึงรัฐบาลลิเบียกระชับอำนาจ

24 กันยายน 2012
ชาญชัย
            จากเหตุมุสลิมประท้วงภาพยนตร์ลบหลู่ศาสนา จนเกิดเหตุเผาสถานกงสุลสหรัฐฯ ประจำเมืองเบงกาซี เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ นายคริสโตเฟอร์ สตีเว่นส์ พร้อมกับเจ้าหน้าที่ชาวอเมริกันอีก 3 คนเสียชีวิตในบริเวณสถานกงสุล
            ในแง่มุมการลบหลู่ศาสนาคือเรื่องหนึ่ง
ส่วนการที่สถานกงสุลถูกโจมตี เรื่องนี้ในวงการทูตการเมืองระหว่างประเทศถือเป็นเรื่องร้ายแรงมาก รัฐบาลโอบามาไม่อาจนิ่งเฉย เพราะสถานกงสุลถือว่าเป็นดินแดนภายใต้อาณัติของสหรัฐฯ ถูกบุกเผาทำลาย เอกอัครราชทูตผู้มีฐานะเป็นตัวแทนประเทศพร้อมกับเจ้าหน้าที่ชาวอเมริกันอีก 3 นายเสียชีวิต ถ้าเป็นยุคสมัยก่อนๆ อาจใช้เหตุนี้เป็นชนวนก่อสงครามระหว่างประเทศ
จึงไม่แปลกที่รัฐบาลสหรัฐฯ ประกาศจะตามล่า หาตัวผู้กระทำผิดมาเข้ากระบวนการยุติธรรม กลายเป็นจุดด่างพร้อยต่อผลงานด้านการต่างประเทศของประธานาธิบดีบารัค โอบามา
กลุ่มติดอาวุธอันซาร์ อัลชาเรีย (Ansar al-Sharia) เป็นกลุ่มหนึ่งที่ตั้งอยู่ในเมืองเบงกาซี ถูกกล่าวหาว่าเกี่ยวข้องกับเหตุเผาทำลายกงสุลสหรัฐฯ จากเรื่องภาพยนตร์ลบหลู่ศาสนา ในขณะที่กลุ่มปฏิเสธว่าพวกตนไม่เกี่ยวข้องด้วย (Al Jazeera/BBC)
อันซาร์ อัลชาเรีย เป็นเพียงกลุ่มติดอาวุธกลุ่มหนึ่งในจำนวนมากมายหลายกลุ่ม กลุ่มเหล่านี้เป็นอิสระต่อกัน ไม่ขึ้นต่อรัฐบาลลิเบีย พวกเหล่านี้เป็นกองกำลังส่วนหนึ่งที่โค่นล้มรัฐบาลกัดดาฟี่ แต่หลังการโค่นล้ม แม้ได้จัดตั้งรัฐบาลใหม่แล้ว กลุ่มเหล่านี้ยังคงอยู่ และกลายเป็นกลุ่มติดอาวุธที่ควบคุมความสงบเรียบร้อยภายในเมืองต่างๆ
เรื่องนี้กลายเป็นปัญหาหนักอกแก่รัฐบาลใหม่ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยที่ยังไม่มีอำนาจพอจะควบคุมกลุ่มเหล่านี้ได้ ในหลายเมืองจึงเกิดลักษณะรัฐซ้อนรัฐ
เหตุการณ์เรียกร้องให้ยุบกองกำลังติดอาวุธครั้งใหม่ เริ่มขึ้นคืนวันศุกร์เมื่อชาวเมืองเบงกาซีจำนวนหนึ่งบุกฐานที่ตั้งของอันซาร์ อัลชาเรีย ในเมืองเบงกาซี เรียกร้องให้กลุ่มถอนตัวออกจากเมือง เกิดการปะทะกันแต่ในที่สุดพวกอันซาร์ อัลชาเรีย ถอนตัวออกจากเมือง
เหตุผลแรกที่ชาวเมืองเบงกาซีไม่ชอบอันซาร์ อัลชาเรีย เพราะชาวบ้านบางส่วนเห็นว่ากลุ่มเหล่านี้แม้จะพยายามทำหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยในเมือง แต่พวกนี้แหละที่ทำให้ชาวบ้านรู้สึกไม่ปลอดภัย ชาวบ้านอยากเห็นตำรวจกับทหารของรัฐบาลเป็นผู้ทำหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยมากกว่า (Al Jazeera)
เหตุผลที่สอง คือเหตุผลที่หลายสำนักข่าว ไม่ว่าจะเป็น BBC Al Jazeera ต่างมีเนื้อข่าวเล็กๆ ที่บอกว่า ชาวเมืองเบงกาซีชี้ว่ากลุ่มอันซาร์ อัลชาเรีย คือพวกที่โจมตีเผาทำลายสถานกงสุลสหรัฐฯ ในเมืองเบงกาซี
กลุ่มบุคคลที่ทางการสหรัฐฯ ต้องการนำตัวมาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมจึงดูเหมือนว่าได้ข้อสรุปเบื้องต้นแล้ว รัฐบาลโอบามามีความคืบหน้าในเรื่องนี้ และความผิดชอบเลื่อนออกจากตัวรัฐบาลลิเบียโดยปริยาย
ทันทีหลังเหตุการณ์ขับไล่กองกำลังติดอาวุธ ประธานาธิบดีลิเบีย โมฮัมเหม็ด อัลเมการีฟ รีบแถลงว่า “เรากำลังยุบกลุ่มติดอาวุธที่ไม่อยู่การควบคุมของรัฐบาล เราห้ามไม่ให้ใช้ความรุนแรงและถืออาวุธในที่สาธารณะ การสร้างจุดตรวจ [โดยกองกำลังติดอาวุธที่ไม่ขึ้นตรงต่อรัฐ] เป็นเรื่องผิดกฎหมาย เราอบรมเจ้าหน้าที่ของรัฐเพื่อมั่นใจว่าพวกเขาจะปฏิบัติตามแนวทางเหล่านี้” (Al Jazeera)
ไม่อาจตอบว่าเป็นเหตุบังเอิญหรือเป็นแผนการณ์ที่ถูกเตรียมไว้ ปธน.อัลเมการีฟประกาศเรียกร้องให้ยุบกองกำลังติดอาวุธทุกกลุ่มทั่วประเทศที่ไม่ขึ้นกับรัฐบาล
แถลงการณ์ของปธน.อัลเมการีฟ ได้ประโยชน์อย่างน้อยสองอย่างคือได้เป้าผู้ต้องสงสัยโจมตีเผาสถานกงสุลสหรัฐฯ และรัฐบาลสามารถกระชับอำนาจควบคุมประเทศได้มากขึ้น
รัฐบาลของอัลเมการีฟ คือรัฐบาลใหม่ภายใต้การเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย ชาติตะวันตกให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ นับตั้งแต่สนับสนุนการโค่นล้มกัดดาฟี่ จนได้จัดตั้งรัฐบาลชุดนี้
ผมเห็นว่าถ้าแม้พลพรรคกลุ่มติดอาวุธอันซาร์ อัลชาเรีย คือผู้ที่ต้องรับผิดชอบต่อการโจมตีเผากงสุลก็ไม่ควรอ้างเหตุนี้เพื่อยุบ กลุ่ม ควรลงโทษรายบุคคลต่อผู้กระทำผิดไม่ว่าจะเป็นระดับปฏิบัติการหรือระดับผู้สั่งการ ไม่ใช่ลงโทษทุกคนในกลุ่ม จึงไม่น่าจะเป็นข้ออ้างเพื่อยุบกลุ่มอันซาร์ อัลชาเรีย และยิ่งเป็นเหตุผลที่แปลกประหลาดหากจะอ้างเหตุดังกล่าวเพื่อยุบกองกำลังติดอาวุธทุกกลุ่มทั่วประเทศ
แต่ถ้าจะยุบเพราะรัฐบาลต้องการควบคุมอำนาจควรใช้วิธีพูดคุยเจรจา เพราะเป็นเรื่องละเอียดอ่อนซับซ้อน ยุบได้ก็จัดตั้งใหม่ได้
ไม่ว่าผู้คิดวิธีนี้จะเป็นปธน.อัลเมการีฟ ที่ปรึกษาคนไหน หรือประเทศใด นับเป็นความคิดที่ชาญฉลาดพอสมควร
เรื่องจึงลงเอยว่า รัฐบาลโอบามาได้เป้าหมายผู้ต้องสงสัยเผาสถานกงสุล รัฐบาลอัลเมการีฟได้พยายามกระชับอำนาจอีกครั้ง อำนาจที่ชาติตะวันตกสนับสนุน
ส่วนกลุ่มกองกำลังติดอาวุธทั่วประเทศจะยุบตัวหรือคงอยู่ ต้องติดตามสถานการณ์คืบหน้าต่อไป
---------------------