ประเด็นโลก ประเด็นร้อน 3 – 9 กันยายน 2012

มอง QE3 อย่างเป็นเหตุเป็นผล
1 กันยายน 2012
ชาญชัย
            ในยามที่เศรษฐกิจจีนกำลังชลอตัว ยูโรโซนยังแก้ปัญหาไม่ได้ ส่วนสหรัฐฯ ยังพอไปได้แม้อัตราว่างงานยังสูงอยู่ คนในตลาดเงินตลาดทุนให้ความสนใจว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมหรือไม่หลังส่งสัญญาณที่ถูกตีความไปต่างๆ นานา
การตีความคำพูดของเฟด อย่างน้อยต้องนึกถึง 3 ประเด็น คือ
            1 เหตุผลที่ต้องออกมาตรการกระตุ้น
            2 ออกเมื่อไหร่
            3 เนื้อหามาตรการกระตุ้นเป็นอย่างไร
            บทวิเคราะห์นี้จะพยายามตีความ แยกแยะให้เห็นชัดเจน พร้อมกับสังเคราะห์ข้อมูลทั้งหมดเพื่อเป็นข้อสรุปสุดท้ายดังนี้

1 เหตุผลที่ต้องออกมาตรการกระตุ้น

หลักคิดเบื้องต้นคือ หากเฟดจะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจย่อมต้องมีเหตุผลรองรับที่มีน้ำหนักเพียงพอ
            ประธานใหญ่เฟดนายเบน เบอร์นันเก้เห็นว่าควรกระตุ้นเศรษฐกิจเพราะอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจยังไม่น่าพอใจ โดยยกประเด็นอัตราคนว่างงานว่า “เป็นเรื่องน่ากังวลอย่างยิ่ง...เพราะอัตราว่างงานที่ยืนระดับสูงเป็นเวลานานจะบั่นทอนโครงสร้างเศรษฐกิจอีกนานหลายปี” จึงต้องทำให้อัตราว่างงานลดลง (WSJ) ณ บรรทัดนี้สรุปว่าเฟดเห็นว่าอัตราว่างงานสหรัฐฯ อยู่ในระดับสูงต่อเนื่องมานานแล้ว
            ปัญหาคือตลาดแรงงานอิ่มตัว ไม่ต้องการจ้างงานเพิ่ม จึงเกิดคำถามว่าเครื่องมือทางการเงินของเฟดจะสามารถช่วยลดปัญหาดังกล่าวได้หรือไม่ หรือเฟดค้นพบวิธีการใหม่ที่สามารถกระตุ้นการจ้างงานเพิ่ม
            เมื่อคิดอย่างเป็นเหตุเป็นผล ณ ขณะนี้เฟดมองว่าปัญหาเศรษฐกิจหลักของสหรัฐฯ คือเรื่องอัตราการว่างงานที่ยังอยู่ในระดับสูงและเป็นเช่นนี้มานานแล้ว พร้อมจะใช้มาตรการเพื่อสร้างการจ้างงานเพิ่ม

2 ออกเมื่อไหร่

            ผู้ที่ติดตามการประชุมเฟดจะสังเกตเห็นอย่างหนึ่งว่าคุณเบอร์นันเก้พูดหลายครั้งแล้วว่าพร้อมจะออกมาตรการกระตุ้น
            อาจไม่รู้สึกแปลกใจถ้าจะได้ยินเฟดพูดซ้ำอีกครั้ง หรือหลายๆ ครั้ง มีลักษณะเป็น โรคเลื่อนดังนั้น ที่ประธานใหญ่เฟดพูดครั้งล่าสุดอาจไม่ได้หมายความว่าจะออกมาตรการในเดือนกันยายนนี้
            อีกประเด็นหนึ่งคือ ถ้ายกเหตุเรื่องอัตราว่างงานขึ้นมาอ้าง หากวิเคราะห์ด้วยพื้นฐานข้อมูลสถิติ ผมตอบได้เลยว่าสามารถออกมาตรการกระตุ้นได้ทุกเมื่อ เพราะขณะเมื่อนายบารัค โอบามาเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2009 ตัวเลขว่างงานอยู่ที่ร้อยละ 8.3 ตลอดสามปีครึ่งที่ผ่านมา ตัวเลขดังกล่าวอยู่ในระดับร้อยละ 8.1-10 เฉพาะปี 2012 ตัวเลขอยู่ระหว่าง 8.1-8.3 ล่าสุดอยู่ที่ร้อยละ 8.3
(ภาพ: อัตราว่างงานรายเดือน ข้อมูลจาก: สำนักงานสถิติแรงงาน กระทรวงแรงงานสหรัฐฯ)
            ครั้งล่าสุด (31 ส.ค.) คุณเบอร์นันเก้พูดว่า “ตั้งแต่เดือนมกราคมเป็นต้นมาอัตราว่างงานไม่ดีขึ้น” และเห็นว่าหากเศรษฐกิจไม่ขับเคลื่อนแรงกว่านี้อัตราว่างงานจะยังคงระดับสูงเช่นนี้ต่อไป (Bloomberg) ถ้าประธานใหญ่เฟดเห็นว่าอัตราว่างงานอยู่ในระดับที่สูงเกินไปมานานแล้ว ก็ควรที่จะออกมาตรการเพิ่มเติมตั้งแต่ก่อนหน้านี้ ไม่ต้องยืดเยื้อรอมาถึงเดือนกันยายน (ที่ผ่านมาได้ออกมาตรการหลายครั้งแล้ว) ไม่จำต้องรอถึงการประชุมเฟดครั้งหน้า ไม่ต้องให้คุณเบอร์นันเก้พูดซ้ำหลายครั้งว่าพร้อมจะใช้มาตรการแล้ว
            ที่สรุปเช่นนี้ ไม่ได้ตอบรับหรือปฏิเสธว่าเฟดจะไม่ออกมาตรการกระตุ้นอีก บางส่วนของคำตอบเรื่องนี้อาจอยู่ที่ข้อต่อไป ...

3 เนื้อหามาตรการกระตุ้นเป็นอย่างไร

            ความเข้าใจที่เป็นปัญหาคือ บางคนใช้คำว่า ‘QE3’ เมื่อพูดถึงมาตรการกระตุ้นของเฟดครั้งหน้า การใช้คำนี้อาจเกิดความเข้าใจผิดนึกถึง QE2 เกิดการทึกทักเอาเองว่า QE3 ก็คือ QE เดิมที่ทำซ้ำใหม่อีกรอบ
เดือนก่อน (1 สิงหาคม) คุณเบอร์นันเก้พูดว่า “มีโอกาสที่ธนาคารกลางจะผ่อนคลายทางการเงินและทำให้การฟื้นตัวเข้มแข็งยิ่งขึ้น” ทั้งนี้ขึ้นกับ “ข้อมูลเศรษฐกิจ พัฒนาการของตลาดการเงิน” และจะกระตุ้น “เท่าที่จำเป็นเพื่อช่วยเสริมการฟื้นฟูเศรษฐกิจ” (WSJ)
มาตรการที่ออกรอบใหม่ ไม่ว่าจะตั้งชื่อว่า ‘QE3’ หรือไม่ อาจมีเนื้อหารายละเอียดไม่เหมือนกับของเดิมขึ้นกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจในแต่ละช่วงเวลาและใช้ยาตรงกับโรคเท่านั้น
            จากการคิดอย่างเป็นระบบ อย่างมีเหตุมีผล ถ้ามีคนถามผมด้วยคำถามยอดฮิตว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ จะออก QE3 หรือไม่ ผมตอบได้แต่ว่าถ้าจะออกมาตรการกระตุ้นก็ด้วยวัตถุประสงค์เพิ่มการจ้างงาน และเนื้อหาของมาตรการฯ ไม่ว่าจะเรียก QE3 หรือไม่น่าจะแตกต่างจาก QE หรือมาตรการที่ผ่านมา
            ทั้งนี้ทั้งนั้น ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่มีผลต่อการตัดสินใจของเฟด หากวิเคราะห์ในกรอบที่กว้างขึ้นกว่านี้
-------------------