‘กรีซขอยืดเวลา’ กับความเป็นไปได้

บทความ 22 สิงหาคม 2012
ชาญชัย
นายกรัฐมนตรีกรีซ แอนโทนิส ซามาราส (Antonis Samaras) แสดงจุดยืนก่อนเจรจาผ่านสื่อว่า "ผมขอพูดแบบตรงไปตรงมา เราไม่ต้องการเงินเพิ่ม เรายึดมั่นในสัญญา ยึดมั่นในข้อเรียกร้องของเรา เราขอเร่งสร้างการเติบโต ... สิ่งเดียวที่เราต้องการคือมีที่ว่างหายใจเพิ่มอีกเล็กน้อยเพื่อให้เศรษฐกิจทำงาน ให้รัฐมีรายได้เพิ่ม" (REUTERS)
            ข้อเรียกร้องของรัฐบาลกรีซคือ ขอผ่อนคลายมาตรการรัดเข็มขัดออกไปอีกระยะหนึ่ง หลังจากที่เศรษฐกิจประเทศถดถอยสู่ปีที่ 5 ประชาชนเกือบ 1 ใน 4 อยู่ในภาวะว่างงาน
            คำถามคือ กลุ่มเจ้าหนี้ซึ่งประกอบด้วย EU ECB และ IMF ที่เรียกว่า troika จะยอมหรือไม่
มีแนวทางที่สามารถเป็นไปได้ 3 แบบ อธิบายได้ใน 3 ฉากทัศน์ (scenario) ดังนี้

1 ถ้าเจ้าหนี้ไม่ยอมตามกรีซ

            ในกรณีที่เจ้าหนี้ยืนยันคงข้อตกลงเดิม รัฐบาลกรีซกลับบ้านมือเปล่า ผลในระยะสั้นคือชาวกรีซบางส่วนอาจออกมาประท้วง รัฐบาลไร้เสถียรภาพ ระบบตลาดยูโรโซนพลอยหวั่นไหวไปด้วย เรื่องไม่จบเพียงเท่านั้น เพราะในเวลาต่อมาอาจพบว่ากรีซไม่สามารถทำตามข้อตกลงต่างๆ ประเทศยังอยู่ในภาวะวิกฤต เศรษฐกิจยูโรโซนจะสั่นสะเทือนอีกรอบ เมื่อถึงเวลานั้นรัฐบาลกรีซจะเรียกร้องขอผ่อนปรนมาตรการรัดเข็มขัดอีก เหตุการณ์เกิดเป็นวงจร
            ถ้าเจ้าหนี้กรีซไม่ยอมผ่อนปรนใดๆ สภาพการในยูโรโซนจะออกมาย่ำแย่ที่สุด

2 ถ้าเจ้าหนี้ยอมตามกรีซ

            ผลที่เกิดทันทีคือรัฐบาลกรีซชุดนี้ได้รับเสียงปรบมือจากประชาชนชาวกรีซ สถานภาพทางการเมืองมั่นคงเท่ากับระยะเวลายืดหนี้ ชาวกรีซสามารถดำเนินชีวิตที่ไม่ต้องกระเบียดกระเสียดมากนัก คงสภาพการณ์ยูโรโซน
            ส่วนผลเสียจะเกิดขึ้นถ้าในเวลาต่อมาพบว่า รัฐบาลกรีซไม่สามารถทำตามสัญญา จะยิ่งทำให้กรีซขาดความเชื่อถือ สะท้อนความอ่อนแอของประเทศอีกรอบ
            ความอ่อนแอของกรีซ สามารถอธิบายโดยย้อนกลับไป 2 ปี กรีซเคยขอรับเงินกู้ช่วยเหลือจำนวน 110 พันล้านยูโรในเดือนพฤษภาคม 2010 จากกลุ่มยูโรและ IMF แต่ความช่วยเหลือรอบนั้นไม่สามารถฟื้นเศรษฐกิจขึ้นมาได้จริง ปีที่แล้วจึงกลับไปมาเจ้าหนี้เดิมเพื่อขอกู้รอบใหม่
เรื่องที่กำลังพูดถึง ณ วันนี้ก็คือรัฐบาลกรีซกำลังขอปรับแก้เงื่อนไขกู้ยืมรอบใหม่นี่เอง หลังจากผ่านการเจรจาตกลงกันเป็นที่เรียบร้อยไปแล้ว
การขอกู้รอบสอง การขอปรับเงื่อนไข ขอยืดมาตรการรัดเข็มขัด ล้วนสะท้อนความอ่อนแอของกรีซ
            ภายใต้ฉากทัศน์ที่สองนี้ ตราบใดที่กรีซยังอยู่ในยูโรโซน กรีซจะเป็นจุดอ่อนของกลุ่ม เป็นตัวสร้างความผันผวนแก่ยูโรโซน แต่นั่นจะเกิดขึ้นในอีก 2-3 ปีข้างหน้า (หรือตามระยะเวลาการยืดหนี้ ยืดมาตรการรัดเข็มขัด) เว้นเสียแต่ว่ากรีซจะปฏิรูปได้อย่างจริงจังจนระบบตลาดเห็นอนาคตอันสดใสของประเทศนี้

3 ประนีประนอม

            นอกจากฉากทัศน์ 2 แบบที่นำเสนอข้างต้น ซึ่งเป็นการเลือกระหว่างจะเอาซ้ายหรือขวา ขาวหรือดำ ยังมีอีกทางเลือกหนึ่งคือ แนวทางประนีประนอม
            การประนีประนอมอาจออกมาในลักษณะยอมยืดเวลาให้อีกระยะ แต่การรัดเข็มขัดจะต้องบรรลุผลตามขั้นตอน เจ้าหนี้กรีซจะคอยตรวจสอบทุกระยะ การปล่อยเงินกู้ตามงวดและการผูกผันสัญญายืดชำระหนี้จะขึ้นกับการที่กรีซบรรลุเป้าหมายการรัดเข็มขัดในแต่ละช่วงเวลา
            ผลคือกรีซจะได้รับการผ่อนคลายมาตรการรัดเข็มขัด ส่วนเจ้าหนี้ก็ได้รับเงินคืนตามเวลาที่กำหนดใหม่ในแต่ละช่วง ภายใต้การตรวจสอบควบคุมอย่างเข้มงวด
            ฝ่ายการเมืองของทุกประเทศจะได้ประโยชน์ รวมทั้งประชาชนชาวกรีซด้วย
ที่ผ่านเจ้าหนี้กรีซพอใจกับรัฐบาลของซามาราสมากกว่าพรรคฝ่ายค้าน การพูดคุยเจรจากับนายซามาราสย่อมง่ายกว่าอีกฝ่าย
            ผมเชื่อว่าทางเลือกประนีประนอมน่าจะเป็นตัวเลือกที่มีโอกาสสูงสุด แต่อาจต้องใช้เวลาการเจรจานานกว่าที่คิด
-------------------