QE3 เป็นสัญญาณบวกหรือลบกันแน่

บทความ 18 ก.ค. 2012
ชาญชัย
                ในขณะที่ตลาดเงินตลาดทุนกำลังใจจดใจจ่อกับคำให้การของประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ นายเบน เบอร์นันกี้ เมื่อกลางเดือนกรกฎาคม เป็นอีกครั้งในหลายครั้งที่มีผู้คาดหวังอยากให้ธนาคารกลางสหรัฐฯออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่ ซึ่งอาจเป็นมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณรอบที่ 3 (QE3)
            หากออก QE3 (หรือเป็นชื่ออื่นที่มีนัยว่าคือมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่) อย่างน้อยในระยะสั้นระบบเศรษฐกิจสหรัฐฯย่อมกระเตื้องขึ้นอย่างแน่นอน และส่งผลกระตุ้นระบบเศรษฐกิจทั่วโลกด้วย
            แต่หากมองในทางลบ สามารถตีความได้ว่าแม้ธนาคารกลางต้องการให้เศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง แต่การกระตุ้นเศรษฐกิจหลายครั้งหลายหนที่ผ่านมาทำได้แค่กระตุ้นให้เศรษฐกิจดีขึ้น ชั่วคราว เท่านั้น เปรียบเสมือนให้ ยาบรรเทาปวด ที่เมื่อหมดฤทธิ์ยาแล้วอาการเจ็บป่วยอันเนื่องจาก โรคร้าย ก็ปรากฏให้เห็นอีกครั้งทันที
            พูดชัดๆคือ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ผ่านมาไม่สามารถ รักษา โรคร้ายตามต้องการ ไม่สามารถทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้อย่างแท้จริง
            ดังนั้น มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่ อาจถูกตีความได้ว่า มีค่าเป็นเพียง ยาบรรเทาปวด อีกชุดหนึ่ง แต่ไม่ใช่ ยารักษาโรค
            การฟื้นตัวจาก QE3 จึงเป็นเพียง ชั่วคราว เท่านั้น ประเดี๋ยวยาก็จะหมดฤทธิ์
            การมองในแง่ลบเช่นนี้ หากมองถอยหลังไปไกลๆ ตีความได้ว่า ตั้งแต่วิกฤติปี 2008 นโยบายเศรษฐกิจ มาตรการกระตุ้นต่างๆ ไม่ได้ทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯฟื้นตัวอย่างแท้จริง หรือไม่ได้ฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง ระบบเศรษฐกิจยังส่งอาการป้อแป้ให้เห็นเป็นระยะๆ เช่น การจ้างงานที่น้อยกว่าคาด ดัชนีเศรษฐกิจหลายตัวที่ขึ้นๆลงๆ แสดงถึงความไม่ชัดเจนว่าฟื้นจริง
            เมื่อเป็นเช่นนั้น คาดการณ์ผลประกอบของธุรกิจสหรัฐฯส่วนใหญ่ในวันข้างหน้าจึงอยู่ในทิศทางของการชะลอตัว
            และหากมองในกรอบที่กว้างกว่าสหรัฐฯ เท่ากับว่าในตอนนี้ระบบเศรษฐกิจทั้งฝั่งสหรัฐฯกับฝั่งอียูกำลังย่ำแย่ และตกอยู่ในภาวะลำบากยิ่งกว่าปี 2008 เพราะสมัยนั้นอียูยังแข็งแกร่งกว่าตอนนี้มาก
            เป็นไปได้ไหมว่า QE3 คือสัญญาณชี้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯกำลังอยู่ในภาวะขับเคี่ยวระหว่างการฟื้นตัวกับการถดถอยรอบใหม่ หรือกำลังตอกย้ำว่าสหรัฐฯยังไม่ได้ผ่านพ้นวิกฤติ 2008
--------------