ลักษณะทั่วไปของวิชารัฐศาสตร์ หน้า 5

“รัฐศาสตร์ คืออะไร” หมายถึง การศึกษาอย่างเป็นระบบเพื่อเข้าใจ การได้มาและการใช้อำนาจ ของหน่วยการเมือง (บุคคลหรือกลุ่มบุคคล ประเทศ หรือองค์กรระหว่างประเทศ)
            “รัฐศาสตร์” ตรงกับคำในภาษาอังกฤษว่า “Political Science”
            เข้าใจง่ายๆ ว่าหมายถึง การศึกษาอย่างเป็นระบบเพื่อเข้าใจ การได้มาและการใช้อำนาจ ของหน่วยการเมือง (บุคคลหรือกลุ่มบุคคล ประเทศ หรือองค์กรระหว่างประเทศ)
            ฮาโรลด์ ลาสเวลล์ (Harold Lasswell, 1958) ให้นิยามว่า รัฐศาสตร์ เป็นศาสตร์ที่ศึกษาถึงเรื่องของการเมือง เพื่อดูว่า “ใครได้อะไร เมื่อใด และอย่างไร” โดยคำว่า “ใคร” ได้แก่ ผู้นำทางการเมือง พรรคการเมือง กลุ่มผลประโยชน์ ตลอดจนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ซึ่งต่างเข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนทางการเมือง คำว่า “อะไร” หมายถึง สิ่งที่รัฐบาลได้กระทำหรือละเว้นไม่กระทำอันเป็นผลลัพธ์ของกระบวนทางการเมือง เช่น นโยบาย และคำว่า “อย่างไร” หมายถึง วิธีการที่ใช้ในกระบวนการทางการเมือง เช่น การลงคะแนนเลือกตั้ง การโน้มน้าวใจ (Lobby) การประท้วง เป็นต้น

            กระมล ทองธรรมชาติ และเชาวนะ ไตรมาส (2546) กล่าวว่า รัฐศาสตร์เป็นวิชาที่ศึกษาเกี่ยวกับรัฐ (State) การเมือง (Politics) และการปกครอง (Government) โดยมีรายละเอียดดังนี้
            1. รัฐศาสตร์เป็นศาสตร์เกี่ยวกับรัฐ มุ่งอธิบายรัฐในมิติต่างๆ เช่น กำเนิดของรัฐ องค์ประกอบของรัฐ พัฒนาการของรัฐ รูปแบบและโครงสร้างของรัฐ อำนาจอธิปไตยของรัฐ เป็นต้น
            2. รัฐศาสตร์เป็นศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการเมือง มุ่งอธิบายลัทธิอุดมการณ์ทางการเมือง เช่น อุดมการณ์เสรีนิยม อุดมการณ์อำนาจนิยม เป็นต้น อธิบายโครงสร้างสถาบันและการทำหน้าที่ของสถาบันทางการเมือง เช่น สถาบันที่ทำหน้าที่กำหนดกติกาทางการเมือง สถาบันที่ทำหน้าที่ด้านนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ พรรคการเมือง กลุ่มผลประโยชน์ เป็นต้น อธิบายถึงพัฒนาการทางการเมือง การมีส่วนร่วมทางการเมือง กระบวนการทางการเมือง การควบคุมและตรวจสอบทางการเมือง
            3. รัฐศาสตร์เป็นศาสตร์เกี่ยวกับการปกครอง มุ่งอธิบายเกี่ยวกับอำนาจสูงสุดของรัฐ เช่น การกำหนดที่มา ความเป็นเจ้าของ วิธีการนำอำนาจอธิปไตยไปใช้ เป็นต้น อธิบายรูปแบบและกลไกสถาบันในการปกครองของรัฐ เช่น รัฐบาลแบบรัฐสภา รัฐบาลแบบประธานาธิบดี เป็นต้น อธิบายแบบแผนและกระบวนการในการปกครองของรัฐ เช่น การแบ่งแยกอำนาจ การตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจระหว่างองค์กรอำนาจด้านนิติบัญญัติกับด้านบริหาร เป็นต้น
             ดังนั้น รัฐศาสตร์จึงให้คำตอบหรืออธิบายเรื่องต่างๆ อย่างเป็นระบบ มีทฤษฎี และรูปแบบ (model) รองรับ และข้อเท็จจริง (fact) ที่เกิดขึ้นใหม่ๆ จะเป็นตัวสร้างทฤษฎีและรูปแบบการอธิบายต่างๆ อย่างไรก็ตาม พึงระลึกเสมอว่ารัฐศาสตร์ยังไม่มีทฤษฎีใดที่สามารถอธิบายปรากฎการณ์ทางการเมืองทุกรูปแบบที่เกิดขึ้นได้อย่างสมบูรณ์ จำเป็นตัวอาศัยทฤษฎีหลายตัวเพื่ออธิบายซึ่งบางครั้งทฤษฎีก็ขัดแย้งกันเองด้วย ด้วยความจริงข้อนี้จึงเป็นเสน่ห์ของวิชานี้ที่ทุกคนมีโอกาสสร้างทฤษฎีของตนเองเพื่ออธิบายข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น จนกว่าจะมีใครคนหนึ่งมาหักล้างทฤษฎีที่เราสร้างขึ้น

“วิธีการศึกษารัฐศาสตร์”
            Jacobson เสนอว่า ไม่ควรศึกษารัฐศาสตร์จากแนวคิดในสมองหรือจากความจำ แต่ยึดหลักการศึกษาการทดลองเหมือนวิชาเคมี ห้องทดลองของรัฐศาสตร์ คือ โลกที่อยู่นอกชั้นเรียนที่สามารถรับรู้ได้ผ่านหนังสือพิมพ์ นิตยสาร โครงการ เอกสาร สุนทรพจน์ การรณรงค์หาเสียง ฯลฯ ซึ่งสามารถหาได้มากมายในอินเตอร์เน็ต
            ศึกษาจากเหตุการณ์จริงทั้งที่เกิดในอดีตและปัจจุบัน เพื่อทดลองว่าสอดคล้องกับทฤษฎีหรือแนวคิด หรือแนววิเคราะห์หรือไม่อย่างไร
            นอกจากนี้ การได้อภิปรายร่วมกันจะเป็นการช่วยให้ได้ข้อมูลที่สมบูรณ์เที่ยงตรงมากขึ้น ข้อสรุปที่ได้ก็ผ่านการคัดกรองมากขึ้น การอภิปรายยังช่วยให้ได้ขัดเขลาความคิดร่วมกัน ได้แบ่งปันข้อูลร่วมกัน ได้มุมมองในหลากหลายรูปแบบ
            การศึกษาข้อมูลดิบอย่างเป็นระบบ ที่สุดแล้วจะทำให้เกิดความคิดรวบยอดในตัวมันเอง ซึ่งอาจกลายแนวคิดหรือทฤษฎีการเมืองได้ในที่สุด
เอกสารประกอบคำบรรยาย รหัสวิชา2551120
ชาญชัย คุ้มปัญญา
------------------------------