ลักษณะทั่วไปของวิชารัฐศาสตร์ หน้า 1

ลักษณะทั่วไปของวิชารัฐศาสตร์ : บทนำ
            ก่อนจะอธิบายว่า รัฐศาสตร์ คืออะไร เราจะพูดถึงคำที่ใกล้ตัวกว่าก่อน เช่น คำว่า การเมือง หมายถึงอะไร
            แม้ว่าจะเข้าใจนิยามของคำว่าการเมืองหรือไม่ แต่เมื่อเราพาดหัวข่าว “ฝ่ายค้านอภิปรายรัฐบาลอย่างเผ็ดร้อนในสภา” เราตอบกับตัวเองทันทีว่านี่คือข่าวการเมือง นี่คือเรื่องการเมือง หรือ “คุณทักษิณโฟนอินเข้ามาในที่ประชุม” เราก็ทราบอีกว่าเป็นเรื่องการเมืองเช่นกัน
“การเมือง คืออะไร”
            คำว่า การเมือง ตรงกับภาษาอังกฤษว่า Politics
            มีผู้ให้คำนิยามหลากหลาย อาทิ
            นิโคโล มาเคียเวลลี่ (Niccolo Machiavelli, 1469-1527) ให้นิยามว่า การเมือง คือ การแสวงหาอำนาจ กิจกรรมทางการเมืองใดๆ ก็เพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจ ส่วนศีลธรรม จริยธรรม ความปรารถนาดี ความเมตตาล้วนเป็นเครื่องมือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจเพียงประการเดียว เพื่อให้ได้มาหรือรักษาไว้ซึ่งอำนาจผู้ปกครองต้องพร้อมทำทุกอย่างแม้ต้องจูบเด็กหรือฆ่าเด็ก และพร้อมทำทุกอย่างเพื่อจะปกครองคนได้ง่ายๆ
            คำถามเพื่อการอภิปราย หากการที่ประชาชนส่วนใหญ่มีการศึกษาแต่น้อย เป็นคนยากคนจน คนที่พึ่งพาตนเองไม่ค่อยจะได้ แต่ง่ายที่ผู้ปกครองจะชักจูงหรือให้อยู่ภายใต้ เป็นเรื่องที่ควรทำหรือไม่ ตามแนวคิดของมาเคียเวลลี่
            จอห์น เรเดคอป (John Redekop) ให้นิยามว่า การเมือง หมายถึง กิจกรรมทั้งหลายซึ่งมีเป้าประสงค์หลักอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างดังต่อไปนี้ คือ
1. ต้องการปรับเปลี่ยนหรือมีอิทธิพลต่อโครงสร้างหรือกระบวนการทางการเมือง การปกครอง ต้อง
2. ต้องการมีอิทธิพลต่อผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง รวมถึงการเปลี่ยนตัวผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
3. ต้องการมีอิทธิพลต่อการกำหนดนโยบายสาธารณะ
4. ต้องการมีอิทธิพลต่อการปฏิบัตินโยบาย
5. ต้องการสร้างความตระหนักให้เกิดขึ้นแก่สาธารณะที่มีต่อการปกครอง กระบวนการ บุคคลและนโยบายสาธารณะ
6. ต้องการมีอิทธิพลหรืออำนาจในรัฐบาล

            เจนคิน (Jenkin) อธิบายโดยพูดถึง 2 นัยยะ
            1. การเมืองในนิยามผ่านสถาบัน (ทางการเมือง)
            เช่น พรรคพลังประชาชน มีอยู่จริง สามารถจัดตั้งรัฐบาล นายกฯสมชาย วงศ์สวัสดิ์ เป็น ส.ส.จากพรรค คนไทยยอมรับว่ามีนายกฯคนนี้
            รัฐไทย (ประเทศไทย) นั้นมีอยู่จริง และได้รับการยอมรับระหว่างรัฐในความมีตัวตน รัฐดำเนินกิจการภายในที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการเมือง โดยเฉพาะต่อพลเมืองของตน
            สถาบันทางการเมืองต่างๆ ที่พูดถึงกันในปัจจุบันต่างก็อยู่ในข่ายนี้ เช่น เอ็นจีโอ กลุ่มหรือแนวร่วมทางการเมือง เช่น นปช. กลุ่มพันธมิตร รวมทั้งสถาบันระหว่างประเทศอย่างองค์การสหประชาชาติ
            2. ความสัมพันธ์ทางสังคม (social relationship) ที่อธิบายผ่านนิยามการเมือง
            เป็นเรื่องของหน้าที่และการพึ่งพาอาศัยกัน เช่น ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาที่เชื่อฟังทำตามสิ่งที่นายสั่ง เช่น นายกฯ มีอำนาจสั่งการรัฐมนตรี รัฐมนตรีมีอำนาจสั่งการข้าราชการกระทรวง ข้าราชการกระทรวงมีบทบาทมีต่อชาวบ้าน ประชาชนเลือก ส.ส. เพื่อเป็นรัฐบาลบริหารประเทศ
            ในที่นี้เพื่อให้การศึกษามีขอบเขตมุ่งเจาะจงส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเมืองโดยตรง จึงขอใช้นิยามในกรอบแคบว่า การเมือง (politics) คือ เรื่องของการได้มาซึ่งอำนาจและการใช้อำนาจของหน่วยการเมือง ดังนั้น การเมืองเกี่ยวข้องกับอำนาจเสมอ หรือการเมืองคือเรื่องของอำนาจ
เอกสารประกอบคำบรรยาย รหัสวิชา2551120 ลักษณะทั่วไปของวิชารัฐศาสตร์

ชาญชัย คุ้มปัญญา
---------------------------